20 กรกฎาคม 2552

ข่าวสัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์ : สงครามไซเบอร์

ข่าวนี้นำมาจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 13 กค. ครับ โดยนักข่าวของหนังสือพิมพ์คมชัดลึกได้โทรศัพท์มาสัมภาษณ์ผมเรื่องคอมพิวเตอร์ของประเทศเกาหลีใต้โดนโจมตี ซึ่งขณะนั้นผมยังไม่ทราบเรื่อง คุณนักข่าวจึงได้กรุณาส่งข่าวมาให้ผมอ่าน และขอความเห็นจากผมครับ

คมชัดลึก : วันเข้าพรรษาที่ผ่านมา ขณะที่คณะรัฐบาลไทยยิ้มแย้มแจ่มใส หยุดงานจูงมือลูกหลานไปทำบุญที่วัดใกล้บ้าน ห่างไปอีกฟากหนึ่งของคาบสมุทรแปซิฟิก...รัฐบาลเกาหลีใต้เรียกผู้นำฝ่ายความมั่นคงจัดประชุมเร่งด่วนยาวนานหลายชั่วโมง เพื่อหากลยุทธ์ตอบโต้การถูกโจมตีด้วย "สงครามไซเบอร์" (Cyber Warfare)

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 7-9 กรกฎาคม เครือข่ายคอมพิวเตอร์และเว็บไซต์หน่วยงานรัฐบาลเกาหลีใต้ถูกแฮ็กเกอร์ไม่ทราบสัญชาติ ส่งข้อมูลเข้าไปทำลายระบบเน็ตเวิร์ก จนเว็บไซต์ใช้งานไม่ได้นานกว่า 4 ชั่วโมง เว็บไซต์เกาหลีใต้ที่ถูกโจมตีไม่ใช่เว็บไซต์ทั่วไป แต่เป็นเว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหม เว็บไซต์ทำเนียบประธานาธิบดี รวมถึงบริษัทที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต ที่เรียกว่า "ไอเอสพี" ด้วย

ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายไซเบอร์ของเกาหลีใต้ หรือ "ซีทีอาร์ซี" (The Cyber Terror Response Centre) ซึ่งตั้งอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า สงครามไซเบอร์ครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเกาหลีใต้เท่านั้น แต่เครือข่ายเว็บไซต์ของรัฐบาลสหรัฐก็โดนด้วยเช่นกัน เบื้องต้นได้รับรายงานว่าเว็บไซต์สำคัญของสหรัฐกับเกาหลีใต้ไม่ต่ำกว่า 25 แห่งโดนโจมตีเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตัวแทนจากกองทัพและสำนักงานอัยการเกาหลีใต้ได้ตั้งคณะทำงานชุดเร่งด่วนขึ้นมาสอบสวนและควานหากลุ่มทำสงครามไซเบอร์ครั้งนี้แล้ว โดยเจ้าหน้าที่รายหนึ่งเปิดเผยว่า เป็นการโจมตีโดยใช้วิธี "ดีดีโอเอส" (DDoS : Distributed Denial-of-Service)

"ธงชัย โรจน์กังสดาล" ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในระบบคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า "ดีดีโอเอส" เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ใช้ทำสงครามไซเบอร์ โดยใช้วิธีส่งข้อมูลจำนวนมหาศาลให้ไหลเข้าไปในเว็บไซต์ หรือเครือข่ายเน็ตเวิร์กของเป้าหมายที่ต้องการโจมตี เพื่อให้ระบบทำงานหนักขึ้นและช้าลงเรื่อยๆ จนในที่สุดต้องหยุดการทำงานลง หากเป็นเว็บไซต์ก็จะไม่สามารถเปิดเข้าไปอ่านได้ หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าเว็บล่มนั่นเอง

การโจมตีด้วย "ดีดีโอเอส" แฮ็กเกอร์จะส่งโปรแกรมอันตรายไปยังคอมพิวเตอร์ทั่วโลก หากเครื่องใดรับโปรแกรมอันตรายเข้าไปก็จะเรียกว่า "ซอมบี้" ซึ่งเจ้าของเครื่องคอมพิวเตอร์ยังใช้งานได้ตามปกติ แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ แฮ็กเกอร์จะสั่งให้เครื่องซอมบี้จากทั่วโลกเข้าไปโจมตี หรือส่งข้อมูลมหาศาลไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นเป้าหมาย ในที่สุดเครือข่ายนั้นจะใช้การไม่ได้

อาจารย์ธงชัยอธิบายเพิ่มเติมว่า การโจมตีด้วยดีดีโอเอสแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ หากโจมตีด้วยเป้าประสงค์ทางการเมืองจะเรียกกันว่า "ไซเบอร์แอทแทค" (Cyber Attack) ส่วนใหญ่จะมีความขัดแย้งจนถือว่าเป็นศัตรูทางการเมืองกันมาก่อน แฮ็กเกอร์อาจทำคนเดียวหรือทำหลายคนก็ได้ เป้าหมายมักเป็นหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ ส่วนประเภทที่ 2 เป็นการโจมตีเพื่อความบันเทิง หรือสคริปท์คิดดี้ (script kiddie) ส่วนใหญ่จะเป็นแฮ็กเกอร์วัยรุ่นทำเพื่อความท้าทายและความสนุก ไม่มีเป้าประสงค์ทางการเมือง

"การโจมตีเกาหลีใต้น่าจะมีเป้าหมายทางการเมือง เพราะไม่นานมานี้มีข่าวว่าเกาหลีเหนือฝึกแฮ็กเกอร์จำนวนมาก เชื่อว่าตอนนี้รัฐบาลเกาหลีใต้คงเร่งติดตามหาต้นตอกลุ่มที่ยิงดีดีโอเอสแล้ว เพราะเครือข่ายคงโดนทำลายไปเยอะ การปิดเว็บไซต์หน่วยงานความมั่นคงนาน 4 ชั่วโมง ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก การติดตามไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องใช้เวลาแกะไอเอสพี เบอร์โทรศัพท์ จนเห็นต้นตอว่ามาจากคอมพิวเตอร์เครื่องใดบนโลก ทุกวันนี้มีการยิงดีดีโอเอสไปที่เว็บไซต์ของรัฐบาลทั่วโลก แต่มักถูกปิดบังไม่เป็นข่าว เพราะจะทำให้รัฐบาลประเทศนั้นเสียชื่อเสียง" อาจารย์ธงชัยให้ความเห็น

เว็บไซต์ข่าว "เคเจซีที 8 นิวส์" (KJCT8NEWS) ของเกาหลีใต้เผยว่า เว็บไซต์สถาบันการเงินหลายแห่งโดนโจมตีด้วย เช่น ชินหาน แบงก์ (Shinhan Bank) โคเรีย เอ็กซ์เชนจ์ แบงก์ (Korea Exchange Bank) นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวว่ากระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ รัฐสภา พรรคการเมือง และหน่วยบัญชาการการฝึกทหารร่วมสหรัฐ-เกาหลีใต้ก็โดนโจมตีด้วยเช่นกัน

"ปริญญา หอมเอนก" ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้เชี่ยวชาญระบบเครือข่ายและความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ เล่าว่า เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2546 หรือเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เกาหลีใต้เคยส่งไวรัสเอสคิวแอล สแลมเมอร์ (SQL Slammer) เข้าโจมตีระบบคอมพิวเตอร์และเน็ตเวิร์กทั่วประเทศ โดยใช้เวลาเพียง 30 นาที ไวรัสตัวนี้ได้เข้าทำลายระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานสำคัญ สร้างความเสียหายอย่างมากต่อระบบสารสนเทศของเกาหลีใต้ เช่น ประชาชนกดเงินจากตู้เอทีเอ็มไม่ได้ ความหวาดผวาแฮ็กเกอร์ครั้งนั้นทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ จัดตั้งสำนักงานความปลอดภัยด้านข้อมูลเกาหลี หรือ เคไอเอสเอ (Korea Information Security Agency : KISA) ที่มีผู้เชี่ยวชาญหลายร้อยคนทำหน้าที่สร้างตรวจสอบช่องโหว่ในการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ภาครัฐ

"การถูกยิงด้วยดีดีโอเอสป้องกันได้ยากมาก เพราะเป็นการส่งข้อมูลมาจากคอมพิวเตอร์ซอมบี้ทั่วโลก ขนาดเกาหลีใต้มีองค์กรและเครื่องมือเฉพาะไว้ป้องกันเรื่องนี้ ยังโดนโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ได้ ถือเป็นกรณีศึกษาว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ถ้าเปรียบเทียบกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของรัฐบาลไทยแล้ว การป้องกันยังสู้ไม่ได้ ห่างกันหลายชั้น เรื่องที่เกิดขึ้นคงจะทำให้หน่วยงานรัฐ ให้ความสนใจป้องกันระบบคอมพิวเตอร์มากกว่านี้ เพราะแฮ็กเกอร์มีพัฒนาการเร็วมาก"

ล่าสุด หน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้ให้ข้อมูลว่า เครื่องที่ยิงดีดีโอเอสอาจถูกส่งมาจากเกาหลีเหนือ ด้านเจ้าหน้าที่บริษัท อันแล็บ อิงค์ ซึ่งทำธุรกิจดูแลความปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ ยอมรับว่า การโจมตีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตครั้งนี้ เป็นกรณีที่ร้ายแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ กลุ่มผู้ก่อการร้ายทางคอมพิวเตอร์ได้วางแผนเตรียมการมาอย่างดี เชื่อว่าเกาหลีเหนืออาจอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน

19 กรกฎาคม 2552

สอน juggling แก่กรมสุขภาพจิต








ขอ update blog ย้อนหลังหน่อยครับ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 กค. ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายเรื่อง "ฝึกการเรียนรู้ด้วย juggling" แก่กรมสุขภาพจิต ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ในงาน "ตลาดนัดความรู้สู่สุขภาพจิตดี ครั้งที่ 4" ซึ่งเป็นงานด้านการจัดการความรู้ หรือ Knowledge Management ของชาวกรมสุขภาพจิตครับ

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายในงานนี้ โดยมีคุณโอ่งหรือคุณดำเกิง ไรวา ได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง Mind Map ด้วยเช่นกัน โดยตารางการอบรมคือ เริ่มเวลา 9 น. - 11 น. ซึ่งนับว่าสั้นมากสำหรับการสอน juggling และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมสอนเนื้อหาเรื่อง juggling โดยตรง เพราะทุกครั้งที่ผ่านมา ผมจะแทรก juggling เป็นกิจกรรมในหลักสูตรความคิดสร้างสรรค์หรือการคิดเชิงนวัตกรรม

ลักษณะของงาน "ตลาดนัดความรู้" คือ จะมี workshop จัดในห้องต่าง ๆ และผู้สนใจก็สามารถเข้าฟังใน workshop ที่ตนเองสนใจ ดังนั้นในเช้าวันศุกร์ที่ 3 จึงมีหลาย workshop จัดพร้อมกัน ซึ่งในตอนแรก ผมได้แจ้งกับทีมงานว่ารับผู้เรียน 30 คน แต่เนื่องจากทราบว่ามีคนสนใจเยอะมาก ผมจึงแจ้งว่ารับได้ถึง 40 คน โดยขอให้ทีมงานเตรียมซื้อลูก juggling ไว้ให้เพียงพอด้วย

เมื่อผมเข้าไปที่ห้อง ก็ตกใจเล็กน้อย เพราะห้องค่อนข้างเล็กกว่าที่คิด ทำให้ไม่มีพื้นที่พอสำหรับ 40 คนในการโยน juggling ถึงแม้ว่าจะไม่มีโต๊ะก็ตาม เพราะผมขอให้จัดเก้าอี้อย่างเดียว แต่โชคดีที่หน้าห้องมีพื้นที่กว้าง ดังนั้นสามารถแบ่งผู้เรียนให้ไปโยน juggling ที่หน้าห้องได้

การสอนครั้งนี้สนุกสนานมากครับ มีผู้เรียนเต็ม 40 คน ส่วนห้อง Mind Map ของคุณดำเกิงก็มีคนแน่นเอี๊ยดทีเดียว น่าจะ 50 คนด้วยซ้ำ ปรากฏว่าในเวลาเพียงชั่วโมงเศษ มีผู้เรียนประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว ที่สามารถโยน juggling ได้ 1 รอบ (การโยน 1 รอบประกอบด้วยการโยน 3 ครั้ง สลับมือกัน) ซึ่งผิดความคาดหมายของผม ผมจึงได้ข้อคิดว่า อาจเป็นเพราะครั้งนี้เน้นที่การโยน juggling อย่างเดียว โดยให้ฝึกประมาณ 40 นาที จากนั้นแทรกด้วยการบรรยายสั้น ๆ แล้วให้ฝึกต่อ ดังนั้นการฝึกอย่างต่อเนื่องภายในเวลาชั่วโมงเศษ ก็สามารถทำให้หลายคนสามารถโยนเริ่มต้นได้ทีเดียว
ครั้งนี้ได้คุณวิริยา ซึ่งเป็นมหาบัณฑิตหมาดๆ และคุณนคินทร นิสิตป.โท ซึ่งเคยผ่านการเรียน juggling กับผมในวิชา Innovative Thinking มาแล้ว มาช่วยเป็นโค้ชด้วยอีกแรง ขอขอบคุณมากครับที่สละเวลามาช่วย เพราะคนสอนเพียงคนเดียวไม่สามารถดูแล 40 คนได้ทั่วถึงแน่ การสอน juggling คนจำนวนมาก จะต้องมีผู้ช่วยสอนหรือโค้ชหลายคน อีกทั้งแต่ละคนมีทักษะในการฝึกฝนไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงต้องแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามทักษะการฝึกและให้โค้ชช่วยดูแลกลุ่มย่อย

ผมขอขอบคุณกรมสุขภาพจิตนะครับ ที่ให้โอกาสผมไปบรรยาย juggling ครั้งนี้ ปีหน้า เชิญผมอีกก็ได้นะครับ

09 กรกฎาคม 2552

ภาพงานรับปริญญาจุฬาฯ 2552 อีกครั้ง














ภาพงานรับปริญญาจุฬาฯ 2552










วันนี้ (พฤหัสที่ 9 กค. 2552) เป็นวันรับพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาิวิทยาลัย ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์รับในวันนี้ั ผมจึงได้ถ่ายรูปกับลูกศิษย์มากมาย โดย blog ในวันนี้จะเน้นภาพถ่ายกับนิสิตหลักสูตรพัฒนาซอฟต์แวร์หรือ Software Development ครับ ซึ่งนิสิตส่วนใหญ่ในภาพถ่ายได้ทำ Senior project กับผมครับ