23 มิถุนายน 2552

สถิติการลงทะเบียนประจำเทอมต้น ปีการศึกษา 2552

เทอมต้น ปีการศึกษา 2552 นี้ ผมต้องสอน 2 วิชาเต็มตัว คือ
1. 2110313 Operating system and system programming
2. 2110496 ตอนที่ 2 Innovative Thinking

และอีก 2 วิชา ซึ่งแบ่งครึ่งสอนกับอาจารย์ท่านอื่นคือ

3. 2110172 Information Technology
4. 2110639 Computer System Security ซึ่งเป็นวิชาระดับปริญญาโท

ปีนี้มีสถิติการลงทะเบียนที่น่าสนใจ จนต้องบันทึกเอาไว้ดังนี้ครับ

1. วิชา 2110313 หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า O.S. นั้น โดยปกติแล้วจะแบ่งเป็น 3 ตอนเรียน มีอาจารย์ 3 คนเวียนกันสอนทั้ง 3 ตอน ซึ่งจะสอนในวันพฤหัสพร้อมกัน แต่ปีนี้นิสิตภาคคอมฯ ปี 3 มีจำนวนมากถึง 120 คน ซึ่งมากกว่าปีก่อน ๆ มาก ปีนี้จึงต้องเปลี่ยนเวลาสอน โดยแบ่งเป็นวันอังคาร วันพุธ และวันพฤหัส ซึ่งผมจะสอนในวันพฤหัส แต่เนื่องจากเราเพิ่งประกาศให้นิสิตทราบ ทำให้นิสิตหลายคนไม่สามารถเรียนวันอังคารกับวันพุธได้ เพราะชนกับวิชาเลือกตัวอื่น จึงมีผลทำให้วิชา O.S. ตอนเรียนวันพฤหัสมีนิสิตมาขอลงทะเบียนเพิ่มเป็น 56 คน จากแต่เดิมซึ่งจำกัดไว้เพียง 45 คน ทำให้เป็นตอนเรียนวิชา O.S. ที่มีคนเรียนมากที่สุดเท่าที่ผมเคยสอน เพราะโดยปกติจะประมาณ 30 กว่าคนเท่านั้น

2. วิชา Innovative Thinking ปีนี้มีนิสิตลงเรียนเพียง 39 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่เคยสอนมา ปีที่แล้วมีนิสิตเรียน 63 คน และปีก่อนหน้านั้นก็มี 50 กว่าคน ปีนี้เป็นปีแรกที่มีนิสิตเรียนน้อยกว่า 40 คน ถ้าพูดภาษาโทรทัศน์ ก็คือ rating ตกอย่างแรง อย่างไรก็ดี ผมมองในแง่ดีว่า นิสิตที่มาเรียนปีนี้คงเป็นนิสิตที่อยากเรียนและสนใจจริง ๆ ไม่ใช่เรียนตามกระแสเหมือนปีอื่น ๆ

ปีหน้าผมตั้งใจว่าจะเปิดวิชานี้เป็น Free Elective หรือ Gen-Ed ให้นิสิตทั้งจุฬาฯ ได้เรียน จะไม่จำกัดเฉพาะนิสิตภาคคอมฯ อีกต่อไป ถ้าได้สอนนิสิตคณะอื่น อาจจะสนุกกว่าเดิมก็ได้

3. วิชา Computer System Security เป็นวิชาระดับปริญญาโท ซึ่งในภาควิชาฯ ของผมมีนิสิตภาคปกติและภาคนอกเวลาราชการ ปรากฏว่าปีนี้นิสิตภาคปกติเรียนวิชา Security มากที่สุดเท่าที่เคยเปิดสอนคือ มีถึง 35 คน ซึ่งจริง ๆ จำกัดไว้เพียง 30 คนเท่านั้น ซึ่งนับว่าแปลกมาก เพราะแต่เดิมวิชา Security จะมีนิสิตเรียนเพียง 20 กว่าคนเท่านั้น ดังนั้นปีนี้จึงมีนิสิตภาคปกติเรียนวิชา Security มากที่สุดเท่าที่เคยเปิดสอน

ในทางตรงกันข้าม วิชา Security ซึ่งเปิดสำหรับภาคนอกเวลาในวันอาทิตย์บ่าย มีคนเรียนเพียงคนเดียวเท่านั้น จึงมีผลทำให้ต้องปิดตอนเรียนนี้โดยปริยาย เพราะการจะเปิดวิชาภาคนอกเวลาได้นั้น จะต้องมีอย่างน้อย 5 คนขึ้นไป ปีที่แล้ว ก็เช่นเดียวกัน คือไม่มีใครเรียนวิชา Security ของภาคนอกเวลาเลย สาเหตุที่ไม่มีคนเรียน Security ในวันอาทิตย์บ่ายนั้น สาเหตุอาจเป็นเพราะ

1. วันอาทิตย์บ่าย มีวิชาบังคับซึ่งนิสิตป.โทปี 1 ทุกคนต้องเรียน ดังนั้นนิสิตปี 1 จะไม่สามารถเรียน Security ได้ เนื่องจากเวลาชนกัน
2. จากเหตุผลในข้อ 1 จึงทำให้ไม่มีวิชาอื่นเปิดสอนในวันอาทิตย์บ่ายนอกจากวิชา Security ดังนั้นทำให้นิสิตปี 2 ไม่จำเป็นต้องเรียนหรือมาในวันอาทิตย์บ่าย จึงทำให้ไม่มีใครอยากเรียนวิชา Security นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การที่ผมไม่ต้องสอนวันอาทิตย์บ่าย ทำให้ผมมีเวลาไปร่วมฟังสัมมนาที่น่าสนใจ ซึ่งมักจัดในวันอาทิตย์ หรือเสาร์ อาทิตย์ เช่น ผมเพิ่งไปฟังสัมมนาของอาจารย์บุญเลิศ สายสนิทเกี่ยวกับการโปรแกรมจิต และตั้งใจว่าจะหาโอกาสไปฟังการบรรยายของโค้ชสิริลักษณ์ ตันสิริ หรืองานสัมมนาอื่น ๆ ที่อัมรินทร์จัดครับ

สรุปแล้ว เทอมต้นปีนี้มีสถิติการลงทะเบียนมากที่สุดและน้อยที่สุดเท่าที่ผมเคยสอนครับ

17 มิถุนายน 2552

ทำไมสอบวิทยานิพนธ์ไม่ผ่าน ตอนที่ 1



บทความนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Go Training ฉบับเดือนมิถุนายน 2552 ครับ และตอนจบจะตีพิมพ์ในฉบับเดือนกรกฏาคม 2552 ครับ
ในการเรียนระดับปริญญาโทนั้น ผู้เรียนจะต้องเรียนเนื้อหารายวิชาและต้องทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดในการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท โดยทั่วไปแล้ว ผู้เรียนมักจะไม่มีปัญหาเรื่องการเรียนเนื้อหารายวิชา อาจได้เกรดเอหรือบีบ้างแล้วแต่ความยากง่ายของแต่ละวิชา บางคนอาจได้เกรดซีในบางวิชาที่ค่อนข้างยาก แต่ก็สามารถผ่านพ้นไปได้ แต่นักศึกษาจะพบอุปสรรคใหญ่หลวงในการทำวิทยานิพนธ์ ตั้งแต่การหาหัวข้อวิทยานิพนธ์ ซึ่งระเบียบกำหนดว่าจะต้องหาหัวข้อให้ได้ภายในสองปี จากนั้นก็ผ่านเข้าสู่กระบวนการสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ การทำวิทยานิพนธ์ และด่านสุดท้ายคือการสอบวิทยานิพนธ์

จากประสบการณ์ในการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ผมได้พบนักศึกษาหลายคนที่สอบวิทยานิพนธ์ไม่ผ่านหรือสอบวิทยานิพนธ์ตก ทำให้ไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายยิ่ง ดังนั้นผมจึงลองวิเคราะห์สาเหตุที่นักศึกษาสอบวิทยานิพนธ์ไม่ผ่าน และรวบรวมเหตุผลดังกล่าวในบทความนี้ เพราะผมเชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาโทหรือสนใจจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทครับ

เหตุผลที่สอบวิทยานิพนธ์ไม่ผ่าน ได้แก่

1. เริ่มทำวิทยานิพนธ์ตอนใกล้กำหนดเส้นตายส่ง

หลังจากที่สอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ผ่านแล้ว นักศึกษาหลายคนก็โล่งอกที่ผ่านด่านแรกไปได้ และละเลยไม่สนใจที่จะรีบทำวิทยานิพนธ์ เพราะคิดว่ายังเหลือเวลาอีกนาน ไม่ต้องรีบร้อนก็ได้ ถ้าเป็นนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรปกติ คือเรียนเต็มเวลาในเวลาราชการ ส่วนใหญ่นักศึกษาประเภทนี้ยังไม่ได้ทำงานเต็มเวลา จึงได้เปรียบตรงที่มีเวลาว่างในเวลากลางวัน ดังนั้นสามารถใช้เวลากลางวันในการทำวิทยานิพนธ์ และนัดพบอาจารย์ที่ปรึกษาได้สะดวก ส่วนนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรนอกเวลาราชการ เช่น เรียนตอนเย็นหรือวันเสาร์ อาทิตย์ ส่วนใหญ่มักมีงานประจำอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาหลังเลิกงานเพื่อทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งในบางครั้งงานประจำก็เต็มมืออยู่แล้ว ทำให้แทบไม่มีเวลาทำวิทยานิพนธ์ จึงเร่งทำตอนใกล้กำหนดส่ง เช่น ถ้ากำหนดสอบเส้นตายวิทยานิพนธ์คือวันที่ 30 เมษายน นักศึกษาหลายคนจะเริ่มทำวิทยานิพนธ์ประมาณต้นเดือนมกราคม จึงทำให้ทำวิทยานิพนธ์ไม่ทัน

ดังนั้นนักศึกษาควรรีบทำวิทยานิพนธ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ครับ ไม่ว่านักศึกษาจะเรียนหลักสูตรในเวลาราชการ หรือนอกเวลาราชการ ก็ไม่ควรชะล่าใจ ปล่อยทิ้งเอาไว้ เพราะยิ่งทิ้งไว้นานเท่าใด ความกระตือรือร้นในการทำวิทยานิพนธ์จะยิ่งน้อยลง จนถึงขั้นไม่อยากทำ โดยทั่วไปแล้ว วิทยานิพนธ์ใช้เวลาในการทำตั้งแต่ครึ่งปีถึงหนึ่งปี แล้วแต่ความยากง่ายของหัวข้อ ดังนั้นยิ่งทำเร็วเท่าใด ยิ่งดีเท่านั้นครับ

วิธีหนึ่งที่เป็นประโยชน์ คือ พยายามรวมกลุ่มกับเพื่อนที่ทำวิทยานิพนธ์ในรุ่นเดียวกัน และนัดพบปะกัน เช่น พบกันเดือนละหนึ่งครั้งเพื่อสอบถามความก้าวหน้าในการทำวิทยานิพนธ์ของกันและกัน หรือให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และที่สำคัญที่สุด คือหมั่นพบอาจารย์ที่ปรึกษาสม่ำเสมอครับ เพราะหน้าที่ของอาจารย์ที่ปรึกษาคือการให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาและให้แนวทางหรือชี้แนะทิศทางในการทำวิทยานิพนธ์ แต่หน้าที่ในการทำวิทยานิพนธ์เป็นของนักศึกษาครับ การเรียนในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกนั้น นักศึกษาจะต้องรับผิดชอบตัวเองและมีวินัยเป็นอย่างสูง ดังนั้นนักศึกษาต้องคอยหมั่นกระตุ้นตนเองเสมอครับ

ในกรณีที่นักศึกษามาเร่งทำวิทยานิพนธ์ตอนใกล้เส้นตาย และเป็นนักศึกษาภาคนอกเวลาราชการ ผมแนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้ ควรขอลาพักร้อนหรือลางานชั่วคราว เพื่อทุ่มเททำงานวิทยานิพนธ์ให้เต็มที่ เพราะเวลามีน้อยอยู่แล้ว ถ้าไม่ให้เวลาอย่างเต็มที่ โอกาสที่จะทำวิทยานิพนธ์เสร็จมีน้อยมากครับ

2. ขาดแรงจูงใจ

ถ้านักศึกษาคิดหัวข้อวิทยานิพนธ์ด้วยตัวเอง และสามารถสอบผ่านหัวข้อวิทยานิพนธ์แล้ว แสดงว่านักศึกษามีความสนใจหัวข้อนั้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเพราะเป็นเรื่องที่ตนเองคิดขึ้นเองและต้องการทำ แต่ในบางกรณี นักศึกษาอาจได้หัวข้อวิทยานิพนธ์จากอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งเป็นหัวข้อที่อาจารย์ที่ปรึกษาสนใจ แต่นักศึกษาอาจไม่สนใจมากนัก เช่น เมื่อใกล้กำหนดสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ นักศึกษาก็รีบ “หยิบ” หัวข้ออะไรก็ได้จากอาจารย์ เพราะจะต้องสอบหัวข้อแล้ว ทำให้นักศึกษาไม่มีความกระตือรือร้นหรือขาดแรงจูงใจไม่อยากทำ ในบางกรณี ระหว่างที่นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ ก็เกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากทำ และหยุดทำดื้อ ๆ คือเลิกเรียนหรือลาออก

ดังนั้นก่อนที่นักศึกษาจะเลือกทำหัวข้อวิทยานิพนธ์ใดก็ตาม ควรถามตนเองว่า มีความสนใจและต้องการทำหัวข้อนั้นจริงหรือไม่ นักศึกษาไม่ควรเลือกหัวข้อเพียงเพราะต้องการให้สอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ผ่านภายในเวลาที่กำหนดหรือไม่ทราบว่าจะทำเรื่องอะไรดี จึงเลือกเรื่องอะไรก็ได้ที่อาจารย์ที่ปรึกษากำหนดมาให้เพราะการทำวิทยานิพนธ์จะต้องใช้เวลาและความต่อเนื่องในการทำ บางครั้งอาจเกิดความเบื่อหน่ายในบางช่วง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา หรือนักศึกษาอาจเกิดปัญหาในชีวิต เช่น ทะเลาะกับแฟน มีปัญหาสุขภาพ มีปัญหากับครอบครัว เปลี่ยนงาน เป็นต้น ในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาเหล่านี้ นักศึกษาจะไม่มีสมาธิพอที่จะทำวิทยานิพนธ์ได้ จนกว่าจะผ่านพ้นช่วงนั้นแล้ว

ส่วนใหญ่แล้ว สาเหตุที่นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ไม่สำเร็จ ไม่ใช่เพราะขาดความรู้หรือทักษะด้านวิชาการ แต่มักเกิดจากการขาดความเพียรหรือกำลังใจที่แน่วแน่ในการทำวิทยานิพนธ์ให้สำเร็จลุล่วง ดังนั้นนักศึกษาควรกระตุ้นและปลุกเร้าตนเองอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งปัจจุบันมีหนังสือแนวจิตวิทยาจำนวนมากที่ให้คำแนะนำด้านนี้อยู่แล้วครับ ลองไปหาอ่านและฝึกฝนดูครับ

3. การนำเสนอไม่ชัดเจน

นักศึกษาหลายคนได้ทำวิทยานิพนธ์และเขียนรูปเล่มมาเป็นอย่างดี แต่ตกม้าตายตอนสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์ เนื่องจากนำเสนอไม่ชัดเจน ไม่สามารถทำให้กรรมการสอบวิทยานิพนธ์เข้าใจได้ สาเหตุที่นำเสนอไม่ชัดเจน เช่น

· ใช้เวลาในการนำเสนอน้อยเกินไปหรือนานเกินไป อันที่จริง ก่อนที่นักศึกษาจะสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์นั้น ควรฝึกซ้อมการนำเสนอก่อน เช่น นำเสนอให้เพื่อนหรืออาจารย์ที่ปรึกษาฟังก่อนหนึ่งรอบ เพื่อที่จะได้เสียงสะท้อนของการนำเสนอ และปรับปรุง แก้ไข ให้ดีขึ้นก่อนการสอบ ในกรณีที่นำเสนอสั้นเกินไป กรรมการสอบวิทยานิพนธ์ก็อาจสงสัยว่า เนื้องานวิทยานิพนธ์คืออะไร ถ้านำเสนอนานเกินไป ก็จะน่าเบื่อ ส่วนใหญ่แล้ว ผมมักพบการนำเสนอนานเกินไป จะไม่ค่อยพบการนำเสนอที่สั้นเกินไปครับ

· สไลด์ที่ใช้ในการนำเสนอไม่เหมาะสม เช่น มีข้อความเต็มไปหมด ทำให้สไลด์ไม่น่าสนใจ และชวนง่วงนอน นอกจากนี้ นักศึกษาบางคนพูดหรือท่องข้อความในสไลด์ ซึ่งเป็นการนำเสนอที่น่าเบื่อมาก เนื้อความในสไลด์ควรสรุปประเด็นสำคัญเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใส่ข้อความทั้งหมด และควรมีภาพประกอบหรือภาพเคลื่อนไหว เพื่อสื่อเนื้อความที่ต้องการ

· นักศึกษาอธิบายไม่รู้เรื่อง หัวข้อบางเรื่องอาจเป็นเรื่องที่กรรมการสอบบางท่านไม่ถนัด หรือเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ ซึ่งนักศึกษาอาจมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นเป็นอย่างดี ดังนั้นนักศึกษาควรยกตัวอย่างหรือการอุปมา อุปไมย เพื่ออธิบายเนื้อความให้ชัดเจน

· นักศึกษาไม่ได้เน้นงานของตนเอง ทำให้กรรมการสอบไม่เข้าใจว่าเนื้องานวิทยานิพนธ์ที่นักศึกษาทำคืออะไร เช่น ใช้เวลากล่าวถึงทฤษฏีหรืองานวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาก แต่ใช้เวลาในการกล่าวถึงเนื้องานวิทยานิพนธ์ตนเองสั้นเกินไป การสอบวิทยานิพนธ์ก็เหมือนการขายสินค้าครับ ดังนั้นนักศึกษาควรเน้นจุดเด่นของงานวิทยานิพนธ์และใช้เวลากับตรงนี้ให้มากที่สุด และควรเปรียบเทียบงานของตนเองกับงานวิจัยของผู้อื่นที่ใกล้เคียง เพื่อที่กรรมการสอบจะได้เข้าใจเนื้อหางานของนักศึกษาได้ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ

นักศึกษาควรหาโอกาสฟังการสอบวิทยานิพนธ์ของรุ่นพี่หรือเพื่อนร่วมรุ่น เพราะทำให้มีประสบการณ์และเห็นรูปแบบการนำเสนอทั้งที่ดีและไม่ดี เพื่อจะได้เตรียมการนำเสนอของตนเองได้อย่างเหมาะสมครับ

09 มิถุนายน 2552

กระป๋องแปลงร่าง






เมื่อวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน ผมได้เข้าไปเรียนหลักสูตร "กระป๋องแปลงร่าง" ซึ่งนิตยสาร Go Training จัดขึ้นที่โรงเรียนอนุบาลนานาชาติ ออยสก้า เอกมัย โดยการเดินทางไปโรงเรียนก็สามารถเดินทางจากสถานี BTS เอกมัย จากนั้นเดินเข้าไปในถนนเอกมัยประมาณสัก 1 กิโลเมตรครับ งานอบรมมีระหว่าง 9-12 น. โดยผมไปถึงเป็นคนแรก ประมาณ 8 โมงกว่า การอบรมครั้งนี้มีผู้เรียน 5 คน โดยมีผมเป็นชายหนุ่มคนเดียวครับ

หลักสูตร "กระป๋องแปลงร่าง" เป็นการนำกระป๋องน้ำดื่มมาดัดแปลงเป็นของใช้ต่าง ๆ ซึ่งในหลักสูตรนี้จะเน้นที่การทำกระเป๋าอย่างที่เห็นในภาพข้างบนครับ ซึ่งเป็นกระเป๋าจากฝีมือของผมเอง (บวกกับอาจารย์) ใช้เวลาทำประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ต้องใช้อุปกรณ์สารพัดอย่าง แต่สนุกมากครับ ระหว่างทำจะรู้สึกว่าสมองโล่ง เพราะต้องจดจ่อ มีสมาธิกับการทำ ซึ่งต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบพอสมควร

ผมสนใจหลักสูตรนี้ตั้งแต่อ่านบทความสัมภาษณ์อาจารย์ผู้สอน คือ อาจารย์พิมพวัน นาคะศิริในนิตยสาร Go Training แล้ว เพราะคิดว่าเป็นการสอนความคิดสร้างสรรค์แนวปฏิบัติที่น่าสนใจมาก ถ้าเป็นไปได้ อาจเรียนเชิญอาจารย์มาสอนในชั้นเรียนวิชา Innovative Thinking 2009


อาจารย์พิมพวัน นาคะศิริ ใจดีมากครับ ถ่ายทอดวิธีการทำอย่างละเอียด และรับเปิดสอนการดัดแปลงกระป๋องเป็นสิ่งของหลายชนิด เช่น กระเป๋า กระเป๋าโทรศัพท์ หมวก ที่ใส่ของ เป็นต้น ถ้าใครสนใจอยากเรียน ลองติดต่อนิตยสาร Go Training เพราะจะมีการเปิดสอนเป็นระยะ ๆ ครับ


ภาพนี้คือสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่อาจารย์พิมพวันได้นำมาแสดงให้พวกเราดู