05 สิงหาคม 2552

บทความสัมภาษณ์อ.หยาง เผย เซิน









นิตยสาร Go Training ฉบับเดือนสิงหาคม 2552 ได้ลงบทความสัมภาษณ์อาจารย์หยาง เผย เซิน ซึ่งเป็นอาจารย์สอนชี่กงคนแรกของผม (และคนเดียวในขณะนี้) เว็บไซต์ของอาจารย์หยางสามารถดูได้ที่ www.qigongthai.com ครับ

04 สิงหาคม 2552

ทำไมสอบวิทยานิพนธ์ไม่ผ่าน (ตอนจบ)




ผมเขียนบทความนี้เพื่อตีพิมพ์ในนิตยสาร Go Training ฉบับเดือนกรกฏาคม 2552 ครับ ซึ่งเป็นตอนต่อจากบทความที่ผมเขียนในฉบับเดือนมิถุนายน 2552


ฉบับที่แล้ว ผมได้กล่าวสาเหตุที่สอบวิทยานิพนธ์ไม่ผ่านสามข้อ ได้แก่ การเริ่มทำวิทยานิพนธ์ใกล้กำหนดส่ง การขาดแรงจูงใจ และการนำเสนอไม่ชัดเจน ฉบับนี้เราจะวิเคราะห์สาเหตุที่เหลือดังนี้ครับ

4. ทำงานไม่ครบตามขอบเขต

หลังจากที่นักศึกษาเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์แล้ว นักศึกษาจะต้องทำงานให้ครบตามขอบเขตวิทยานิพนธ์ตามที่ตัวเองเสนอไว้ และส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการตัดสินว่านักศึกษาได้ทำวิทยานิพนธ์ครบถ้วนหรือไม่ ถ้านักศึกษาได้กำหนดขอบเขตวิทยานิพนธ์ว่าจะทำห้าข้อ แต่เมื่อสอบจบ นักศึกษากลับทำได้เพียงสามข้อ กรรมการก็จะให้นักศึกษาสอบตกแน่นอน เพราะไม่สามารถทำได้ครบตามขอบเขต ดังนั้นนักศึกษาต้องแน่ใจว่า ทำวิทยานิพนธ์ได้ครบตามขอบเขตของหัวข้อที่เสนอไว้ ส่วนใหญ่ที่นักศึกษาทำงานไม่ครบตามขอบเขต เพราะทำไม่ทันนั่นเอง

แต่ถ้าระหว่างทำวิทยานิพนธ์ นักศึกษาพบว่าไม่สามารถทำขอบเขตบางข้อได้ตามที่เสนอไว้ เพราะสุดวิสัย ในกรณีนี้ นักศึกษาควรปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อขอคำแนะนำครับ

5. รูปเล่มวิทยานิพนธ์ไม่สมบูรณ์

นอกจากการสอบปากเปล่าแล้ว รูปเล่มวิทยานิพนธ์ก็เป็นส่วนสำคัญในการสอบวิทยานิพนธ์ สิ่งหนึ่งที่ทำให้กรรมการสอบวิทยานิพนธ์หงุดหงิดหรือรำคาญใจอย่างมากคือ วิทยานิพนธ์ที่มีคำสะกดผิดจำนวนมากเหมือนรายงานเด็กประถมมากกว่าวิทยานิพนธ์ ผมมักบอกนักศึกษาเสมอว่า ควรตรวจสอบคำสะกดทั้งหลายให้ถูกต้องก่อนที่จะส่งรูปเล่มแก่อาจารย์ที่ปรึกษาหรือกรรมการ แต่ก็ยังพบคำสะกดผิดอยู่เป็นประจำ

ส่วนสาเหตุที่ยังมีคำสะกดผิดนั้น อาจเป็นเพราะนักศึกษาหลายคนมักอ่านวิทยานิพนธ์จากจอคอมพิวเตอร์เพื่อหาคำผิด ดังนั้นจึงมองข้ามคำผิดโดยไม่รู้ตัว และเครื่องมือการตรวจสอบคำสะกดภาษาไทยในคอมพิวเตอร์นั้นก็ยังไม่ครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ผมแนะนำว่านักศึกษาควรพิมพ์รูปเล่มก่อน จากนั้นตรวจทานคำสะกดจากฉบับพิมพ์เพื่อตรวจทาน ก็จะทำให้มองเห็นคำผิดได้ง่ายขึ้น หรืออาจขอให้ผู้อื่น เช่น เพื่อนช่วยอ่านตรวจทานเพื่อตรวจสอบการสะกดให้ ก็จะทำให้ลดคำสะกิดผิดได้มากครับ (เห็นคำสะกดผิดเมื่อสักครู่ไหมครับ)

การใช้คำสะกดผิดอีกกรณีหนึ่งคือการใช้คำวิชาการที่สะกดไม่ถูกต้องตามศัพท์ที่บัญญัติไว้ ตัวอย่างเช่น คำว่า “ซอฟต์แวร์” หลายคนมักเขียนว่า “ซอฟท์แวร์” หรือ “ซอฟแวร์” ซึ่งเป็นคำสะกดที่ไม่ถูก ดังนั้นนักศึกษาควรตรวจสอบความถูกต้องของศัพท์วิชาการจากพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน หรือสามารถเข้าไปดูได้จากเว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสถานคือ http://www.royin.go.th/ บางคำอาจยังไม่มีการบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทย ดังนั้นนักศึกษาอาจใช้คำซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในวงการหรือทับศัพท์โดยวงเล็บภาษาอังกฤษด้วย เพื่อจะได้ทราบคำเดิมของศัพท์นั้น

นอกจากคำสะกดแล้ว การจัดเรียงบทของวิทยานิพนธ์ การใส่ภาพ ตาราง เอกสารอ้างอิง ก็มีความสำคัญเช่นกัน นักศึกษาควรตรวจสอบรูปแบบวิทยานิพนธ์จากมหาวิทยาลัยของตนเอง และดูตัวอย่างวิทยานิพนธ์ของรุ่นพี่ แต่ไม่ควรยึดถือวิทยานิพนธ์ของรุ่นพี่เป็นตัวอย่างที่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะบางทีวิทยานิพนธ์ของรุ่นพี่ก็ “มั่ว” เหมือนกันครับ

โดยสรุปแล้ว สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างง่ายดาย ถ้านักศึกษามีเวลาเพียงพอในการทำวิทยานิพนธ์ เพราะนักศึกษาสามารถตรวจทานและแก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ หรือไม่มีข้อผิดพลาดเลย นักศึกษาก็จะมีความภาคภูมิใจในวิทยานิพนธ์ฉบับนั้น และจบการศึกษาอย่างสง่างามสมกับเป็นมหาบัณฑิตครับ

แนะนำหนังสือสร้างกำลังใจ

ฉบับที่แล้ว ผมแนะนำว่าลองหาหนังสือแนวสร้างกำลังใจมาอ่าน จึงมีท่านผู้อ่านเสนอความเห็นว่าควรแนะนำชื่อหนังสือที่น่าสนใจ ผมจึงขอแนะนำหนังสือสร้างกำลังใจต่อไปนี้ครับ หนังสือเหล่านี้เป็นหนังสือที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษ บางเล่มก็อ่านหลายครั้งและได้มุมมองใหม่ ๆ ทุกครั้งเวลาอ่านครับ

1. “สร้างกำลังใจ” เขียนโดย อาจารย์เปลื้อง ณ นคร ผมซื้อหนังสือเล่มนี้เมื่อปีพ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่สิบสี่ และปัจจุบันก็ยังคงพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นคงไม่ต้องสงสัยว่าหนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมมากเพียงใดครับ หนังสือเล่มนี้รวบรวมบทความต่าง ๆ เชิงจิตวิทยาประยุกต์ ซึ่งแต่ละบทจะให้ข้อคิดและวิธีการปลุกกำลังใจให้เกิดขึ้น เช่น “ฝึกคิดให้ดีกับตนเอง” “เปลี่ยนความผิดหวังเป็นพลังใจ” “วิธีฝึกใจให้มีสมาธิ” “ทางไปสู่ความสำเร็จ” “เอาชนะดวงตัวเอง” แค่เห็นชื่อบทก็อยากอ่านแล้วใช่ไหมครับ

2. “เมื่อยักษ์ตื่น!” เขียนโดย โค้ชสิริลักษณ์ ตันสิริ หนังสือเล่มนี้เล่าประสบการณ์ของคุณสิริลักษณ์ ซึ่งเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจหญิงคนแรกของไทย และกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาตนเอง วิธีการปลุกใจให้ต่อสู้กับอุปสรรค การเอาชนะตนเอง การปลุกยักษ์ในตัวเอง เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ มีเนื้อหาเข้มข้น ลีลาการเขียนสนุกสนาน และมีแบบฝึกหัดมากมายที่ให้ฝึกฝนครับ

3. “วิธีชนะทุกข์และสร้างสุข” แปลจาก “How to stop worrying and start living” เขียนโดย เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) แปลโดย อาษา ขอจิตต์เมตต์ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือด้านการพิชิตความวิตกกังวลที่มีชื่อเสียงดังระดับโลก อันที่จริงหนังสือทุกเล่มของเดล คาร์เนกี้น่าอ่านมากครับ โดยเล่มนี้จะเน้นที่การพิชิตความวิตกกังวลต่าง ๆ และการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ถ้าคุณมีปัญหาที่แก้ไม่ตกและกลุ้มอกกลุ้มใจแล้วละก็ ลองอ่านเล่มนี้ดูสิครับ แล้วคุณจะรู้สึกว่า ควรอ่านตั้งนานแล้ว

4. “The Success Principle” เขียนโดย แจ็ค แคนฟิลด์ (Jack Canfield) หนังสือเล่มนี้มีความหนาเกือบ 500 หน้าและบรรจุแนวทางสู่ความสำเร็จทั้งหมด 64 บท เป็นหนังสือที่ผู้ต้องการประสพความสำเร็จทุกคนควรอ่านครับ เท่าที่ผมทราบ เล่มนี้ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย ดังนั้นผู้สนใจคงต้องอ่านฉบับภาษาอังกฤษไปก่อน ซึ่งสามารถหาซื้อได้จากร้านจำหน่ายหนังสือภาษาต่างประเทศชั้นนำครับ คำโปรยที่หน้าปกเขียนว่า “ถ้าคุณสามารถอ่านหนังสือเล่มเดียวในปีนี้แล้วละก็ โปรดอ่านเล่มนี้” ลองพิสูจน์ดูนะครับว่าจริงหรือไม่
ผมได้สรุปเนื้อหาของบทความทั้งสองตอนเป็น Mind Map ซึ่งแสดงในภาพข้างบน Mind Map นี้สร้างโดยใช้โปรแกรม iMindMap 4.0 ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ Mind Map ที่ Tony Buzan ปรมาจารย์ผู้คิดค้น Mind Map เป็นผู้รับรองโดยตรง และเป็นโปรแกรม Mind Map ที่วาดได้สวยที่สุด (คล้ายกับการใช้มือวาด)

20 กรกฎาคม 2552

ข่าวสัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์ : สงครามไซเบอร์

ข่าวนี้นำมาจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 13 กค. ครับ โดยนักข่าวของหนังสือพิมพ์คมชัดลึกได้โทรศัพท์มาสัมภาษณ์ผมเรื่องคอมพิวเตอร์ของประเทศเกาหลีใต้โดนโจมตี ซึ่งขณะนั้นผมยังไม่ทราบเรื่อง คุณนักข่าวจึงได้กรุณาส่งข่าวมาให้ผมอ่าน และขอความเห็นจากผมครับ

คมชัดลึก : วันเข้าพรรษาที่ผ่านมา ขณะที่คณะรัฐบาลไทยยิ้มแย้มแจ่มใส หยุดงานจูงมือลูกหลานไปทำบุญที่วัดใกล้บ้าน ห่างไปอีกฟากหนึ่งของคาบสมุทรแปซิฟิก...รัฐบาลเกาหลีใต้เรียกผู้นำฝ่ายความมั่นคงจัดประชุมเร่งด่วนยาวนานหลายชั่วโมง เพื่อหากลยุทธ์ตอบโต้การถูกโจมตีด้วย "สงครามไซเบอร์" (Cyber Warfare)

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 7-9 กรกฎาคม เครือข่ายคอมพิวเตอร์และเว็บไซต์หน่วยงานรัฐบาลเกาหลีใต้ถูกแฮ็กเกอร์ไม่ทราบสัญชาติ ส่งข้อมูลเข้าไปทำลายระบบเน็ตเวิร์ก จนเว็บไซต์ใช้งานไม่ได้นานกว่า 4 ชั่วโมง เว็บไซต์เกาหลีใต้ที่ถูกโจมตีไม่ใช่เว็บไซต์ทั่วไป แต่เป็นเว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหม เว็บไซต์ทำเนียบประธานาธิบดี รวมถึงบริษัทที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต ที่เรียกว่า "ไอเอสพี" ด้วย

ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายไซเบอร์ของเกาหลีใต้ หรือ "ซีทีอาร์ซี" (The Cyber Terror Response Centre) ซึ่งตั้งอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า สงครามไซเบอร์ครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเกาหลีใต้เท่านั้น แต่เครือข่ายเว็บไซต์ของรัฐบาลสหรัฐก็โดนด้วยเช่นกัน เบื้องต้นได้รับรายงานว่าเว็บไซต์สำคัญของสหรัฐกับเกาหลีใต้ไม่ต่ำกว่า 25 แห่งโดนโจมตีเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตัวแทนจากกองทัพและสำนักงานอัยการเกาหลีใต้ได้ตั้งคณะทำงานชุดเร่งด่วนขึ้นมาสอบสวนและควานหากลุ่มทำสงครามไซเบอร์ครั้งนี้แล้ว โดยเจ้าหน้าที่รายหนึ่งเปิดเผยว่า เป็นการโจมตีโดยใช้วิธี "ดีดีโอเอส" (DDoS : Distributed Denial-of-Service)

"ธงชัย โรจน์กังสดาล" ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในระบบคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า "ดีดีโอเอส" เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ใช้ทำสงครามไซเบอร์ โดยใช้วิธีส่งข้อมูลจำนวนมหาศาลให้ไหลเข้าไปในเว็บไซต์ หรือเครือข่ายเน็ตเวิร์กของเป้าหมายที่ต้องการโจมตี เพื่อให้ระบบทำงานหนักขึ้นและช้าลงเรื่อยๆ จนในที่สุดต้องหยุดการทำงานลง หากเป็นเว็บไซต์ก็จะไม่สามารถเปิดเข้าไปอ่านได้ หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าเว็บล่มนั่นเอง

การโจมตีด้วย "ดีดีโอเอส" แฮ็กเกอร์จะส่งโปรแกรมอันตรายไปยังคอมพิวเตอร์ทั่วโลก หากเครื่องใดรับโปรแกรมอันตรายเข้าไปก็จะเรียกว่า "ซอมบี้" ซึ่งเจ้าของเครื่องคอมพิวเตอร์ยังใช้งานได้ตามปกติ แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ แฮ็กเกอร์จะสั่งให้เครื่องซอมบี้จากทั่วโลกเข้าไปโจมตี หรือส่งข้อมูลมหาศาลไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นเป้าหมาย ในที่สุดเครือข่ายนั้นจะใช้การไม่ได้

อาจารย์ธงชัยอธิบายเพิ่มเติมว่า การโจมตีด้วยดีดีโอเอสแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ หากโจมตีด้วยเป้าประสงค์ทางการเมืองจะเรียกกันว่า "ไซเบอร์แอทแทค" (Cyber Attack) ส่วนใหญ่จะมีความขัดแย้งจนถือว่าเป็นศัตรูทางการเมืองกันมาก่อน แฮ็กเกอร์อาจทำคนเดียวหรือทำหลายคนก็ได้ เป้าหมายมักเป็นหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ ส่วนประเภทที่ 2 เป็นการโจมตีเพื่อความบันเทิง หรือสคริปท์คิดดี้ (script kiddie) ส่วนใหญ่จะเป็นแฮ็กเกอร์วัยรุ่นทำเพื่อความท้าทายและความสนุก ไม่มีเป้าประสงค์ทางการเมือง

"การโจมตีเกาหลีใต้น่าจะมีเป้าหมายทางการเมือง เพราะไม่นานมานี้มีข่าวว่าเกาหลีเหนือฝึกแฮ็กเกอร์จำนวนมาก เชื่อว่าตอนนี้รัฐบาลเกาหลีใต้คงเร่งติดตามหาต้นตอกลุ่มที่ยิงดีดีโอเอสแล้ว เพราะเครือข่ายคงโดนทำลายไปเยอะ การปิดเว็บไซต์หน่วยงานความมั่นคงนาน 4 ชั่วโมง ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก การติดตามไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องใช้เวลาแกะไอเอสพี เบอร์โทรศัพท์ จนเห็นต้นตอว่ามาจากคอมพิวเตอร์เครื่องใดบนโลก ทุกวันนี้มีการยิงดีดีโอเอสไปที่เว็บไซต์ของรัฐบาลทั่วโลก แต่มักถูกปิดบังไม่เป็นข่าว เพราะจะทำให้รัฐบาลประเทศนั้นเสียชื่อเสียง" อาจารย์ธงชัยให้ความเห็น

เว็บไซต์ข่าว "เคเจซีที 8 นิวส์" (KJCT8NEWS) ของเกาหลีใต้เผยว่า เว็บไซต์สถาบันการเงินหลายแห่งโดนโจมตีด้วย เช่น ชินหาน แบงก์ (Shinhan Bank) โคเรีย เอ็กซ์เชนจ์ แบงก์ (Korea Exchange Bank) นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวว่ากระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ รัฐสภา พรรคการเมือง และหน่วยบัญชาการการฝึกทหารร่วมสหรัฐ-เกาหลีใต้ก็โดนโจมตีด้วยเช่นกัน

"ปริญญา หอมเอนก" ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้เชี่ยวชาญระบบเครือข่ายและความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ เล่าว่า เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2546 หรือเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เกาหลีใต้เคยส่งไวรัสเอสคิวแอล สแลมเมอร์ (SQL Slammer) เข้าโจมตีระบบคอมพิวเตอร์และเน็ตเวิร์กทั่วประเทศ โดยใช้เวลาเพียง 30 นาที ไวรัสตัวนี้ได้เข้าทำลายระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานสำคัญ สร้างความเสียหายอย่างมากต่อระบบสารสนเทศของเกาหลีใต้ เช่น ประชาชนกดเงินจากตู้เอทีเอ็มไม่ได้ ความหวาดผวาแฮ็กเกอร์ครั้งนั้นทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ จัดตั้งสำนักงานความปลอดภัยด้านข้อมูลเกาหลี หรือ เคไอเอสเอ (Korea Information Security Agency : KISA) ที่มีผู้เชี่ยวชาญหลายร้อยคนทำหน้าที่สร้างตรวจสอบช่องโหว่ในการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ภาครัฐ

"การถูกยิงด้วยดีดีโอเอสป้องกันได้ยากมาก เพราะเป็นการส่งข้อมูลมาจากคอมพิวเตอร์ซอมบี้ทั่วโลก ขนาดเกาหลีใต้มีองค์กรและเครื่องมือเฉพาะไว้ป้องกันเรื่องนี้ ยังโดนโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ได้ ถือเป็นกรณีศึกษาว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ถ้าเปรียบเทียบกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของรัฐบาลไทยแล้ว การป้องกันยังสู้ไม่ได้ ห่างกันหลายชั้น เรื่องที่เกิดขึ้นคงจะทำให้หน่วยงานรัฐ ให้ความสนใจป้องกันระบบคอมพิวเตอร์มากกว่านี้ เพราะแฮ็กเกอร์มีพัฒนาการเร็วมาก"

ล่าสุด หน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้ให้ข้อมูลว่า เครื่องที่ยิงดีดีโอเอสอาจถูกส่งมาจากเกาหลีเหนือ ด้านเจ้าหน้าที่บริษัท อันแล็บ อิงค์ ซึ่งทำธุรกิจดูแลความปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ ยอมรับว่า การโจมตีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตครั้งนี้ เป็นกรณีที่ร้ายแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ กลุ่มผู้ก่อการร้ายทางคอมพิวเตอร์ได้วางแผนเตรียมการมาอย่างดี เชื่อว่าเกาหลีเหนืออาจอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน

19 กรกฎาคม 2552

สอน juggling แก่กรมสุขภาพจิต








ขอ update blog ย้อนหลังหน่อยครับ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 กค. ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายเรื่อง "ฝึกการเรียนรู้ด้วย juggling" แก่กรมสุขภาพจิต ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ในงาน "ตลาดนัดความรู้สู่สุขภาพจิตดี ครั้งที่ 4" ซึ่งเป็นงานด้านการจัดการความรู้ หรือ Knowledge Management ของชาวกรมสุขภาพจิตครับ

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายในงานนี้ โดยมีคุณโอ่งหรือคุณดำเกิง ไรวา ได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง Mind Map ด้วยเช่นกัน โดยตารางการอบรมคือ เริ่มเวลา 9 น. - 11 น. ซึ่งนับว่าสั้นมากสำหรับการสอน juggling และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมสอนเนื้อหาเรื่อง juggling โดยตรง เพราะทุกครั้งที่ผ่านมา ผมจะแทรก juggling เป็นกิจกรรมในหลักสูตรความคิดสร้างสรรค์หรือการคิดเชิงนวัตกรรม

ลักษณะของงาน "ตลาดนัดความรู้" คือ จะมี workshop จัดในห้องต่าง ๆ และผู้สนใจก็สามารถเข้าฟังใน workshop ที่ตนเองสนใจ ดังนั้นในเช้าวันศุกร์ที่ 3 จึงมีหลาย workshop จัดพร้อมกัน ซึ่งในตอนแรก ผมได้แจ้งกับทีมงานว่ารับผู้เรียน 30 คน แต่เนื่องจากทราบว่ามีคนสนใจเยอะมาก ผมจึงแจ้งว่ารับได้ถึง 40 คน โดยขอให้ทีมงานเตรียมซื้อลูก juggling ไว้ให้เพียงพอด้วย

เมื่อผมเข้าไปที่ห้อง ก็ตกใจเล็กน้อย เพราะห้องค่อนข้างเล็กกว่าที่คิด ทำให้ไม่มีพื้นที่พอสำหรับ 40 คนในการโยน juggling ถึงแม้ว่าจะไม่มีโต๊ะก็ตาม เพราะผมขอให้จัดเก้าอี้อย่างเดียว แต่โชคดีที่หน้าห้องมีพื้นที่กว้าง ดังนั้นสามารถแบ่งผู้เรียนให้ไปโยน juggling ที่หน้าห้องได้

การสอนครั้งนี้สนุกสนานมากครับ มีผู้เรียนเต็ม 40 คน ส่วนห้อง Mind Map ของคุณดำเกิงก็มีคนแน่นเอี๊ยดทีเดียว น่าจะ 50 คนด้วยซ้ำ ปรากฏว่าในเวลาเพียงชั่วโมงเศษ มีผู้เรียนประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว ที่สามารถโยน juggling ได้ 1 รอบ (การโยน 1 รอบประกอบด้วยการโยน 3 ครั้ง สลับมือกัน) ซึ่งผิดความคาดหมายของผม ผมจึงได้ข้อคิดว่า อาจเป็นเพราะครั้งนี้เน้นที่การโยน juggling อย่างเดียว โดยให้ฝึกประมาณ 40 นาที จากนั้นแทรกด้วยการบรรยายสั้น ๆ แล้วให้ฝึกต่อ ดังนั้นการฝึกอย่างต่อเนื่องภายในเวลาชั่วโมงเศษ ก็สามารถทำให้หลายคนสามารถโยนเริ่มต้นได้ทีเดียว
ครั้งนี้ได้คุณวิริยา ซึ่งเป็นมหาบัณฑิตหมาดๆ และคุณนคินทร นิสิตป.โท ซึ่งเคยผ่านการเรียน juggling กับผมในวิชา Innovative Thinking มาแล้ว มาช่วยเป็นโค้ชด้วยอีกแรง ขอขอบคุณมากครับที่สละเวลามาช่วย เพราะคนสอนเพียงคนเดียวไม่สามารถดูแล 40 คนได้ทั่วถึงแน่ การสอน juggling คนจำนวนมาก จะต้องมีผู้ช่วยสอนหรือโค้ชหลายคน อีกทั้งแต่ละคนมีทักษะในการฝึกฝนไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงต้องแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามทักษะการฝึกและให้โค้ชช่วยดูแลกลุ่มย่อย

ผมขอขอบคุณกรมสุขภาพจิตนะครับ ที่ให้โอกาสผมไปบรรยาย juggling ครั้งนี้ ปีหน้า เชิญผมอีกก็ได้นะครับ

09 กรกฎาคม 2552

ภาพงานรับปริญญาจุฬาฯ 2552 อีกครั้ง














ภาพงานรับปริญญาจุฬาฯ 2552










วันนี้ (พฤหัสที่ 9 กค. 2552) เป็นวันรับพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาิวิทยาลัย ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์รับในวันนี้ั ผมจึงได้ถ่ายรูปกับลูกศิษย์มากมาย โดย blog ในวันนี้จะเน้นภาพถ่ายกับนิสิตหลักสูตรพัฒนาซอฟต์แวร์หรือ Software Development ครับ ซึ่งนิสิตส่วนใหญ่ในภาพถ่ายได้ทำ Senior project กับผมครับ

23 มิถุนายน 2552

สถิติการลงทะเบียนประจำเทอมต้น ปีการศึกษา 2552

เทอมต้น ปีการศึกษา 2552 นี้ ผมต้องสอน 2 วิชาเต็มตัว คือ
1. 2110313 Operating system and system programming
2. 2110496 ตอนที่ 2 Innovative Thinking

และอีก 2 วิชา ซึ่งแบ่งครึ่งสอนกับอาจารย์ท่านอื่นคือ

3. 2110172 Information Technology
4. 2110639 Computer System Security ซึ่งเป็นวิชาระดับปริญญาโท

ปีนี้มีสถิติการลงทะเบียนที่น่าสนใจ จนต้องบันทึกเอาไว้ดังนี้ครับ

1. วิชา 2110313 หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า O.S. นั้น โดยปกติแล้วจะแบ่งเป็น 3 ตอนเรียน มีอาจารย์ 3 คนเวียนกันสอนทั้ง 3 ตอน ซึ่งจะสอนในวันพฤหัสพร้อมกัน แต่ปีนี้นิสิตภาคคอมฯ ปี 3 มีจำนวนมากถึง 120 คน ซึ่งมากกว่าปีก่อน ๆ มาก ปีนี้จึงต้องเปลี่ยนเวลาสอน โดยแบ่งเป็นวันอังคาร วันพุธ และวันพฤหัส ซึ่งผมจะสอนในวันพฤหัส แต่เนื่องจากเราเพิ่งประกาศให้นิสิตทราบ ทำให้นิสิตหลายคนไม่สามารถเรียนวันอังคารกับวันพุธได้ เพราะชนกับวิชาเลือกตัวอื่น จึงมีผลทำให้วิชา O.S. ตอนเรียนวันพฤหัสมีนิสิตมาขอลงทะเบียนเพิ่มเป็น 56 คน จากแต่เดิมซึ่งจำกัดไว้เพียง 45 คน ทำให้เป็นตอนเรียนวิชา O.S. ที่มีคนเรียนมากที่สุดเท่าที่ผมเคยสอน เพราะโดยปกติจะประมาณ 30 กว่าคนเท่านั้น

2. วิชา Innovative Thinking ปีนี้มีนิสิตลงเรียนเพียง 39 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่เคยสอนมา ปีที่แล้วมีนิสิตเรียน 63 คน และปีก่อนหน้านั้นก็มี 50 กว่าคน ปีนี้เป็นปีแรกที่มีนิสิตเรียนน้อยกว่า 40 คน ถ้าพูดภาษาโทรทัศน์ ก็คือ rating ตกอย่างแรง อย่างไรก็ดี ผมมองในแง่ดีว่า นิสิตที่มาเรียนปีนี้คงเป็นนิสิตที่อยากเรียนและสนใจจริง ๆ ไม่ใช่เรียนตามกระแสเหมือนปีอื่น ๆ

ปีหน้าผมตั้งใจว่าจะเปิดวิชานี้เป็น Free Elective หรือ Gen-Ed ให้นิสิตทั้งจุฬาฯ ได้เรียน จะไม่จำกัดเฉพาะนิสิตภาคคอมฯ อีกต่อไป ถ้าได้สอนนิสิตคณะอื่น อาจจะสนุกกว่าเดิมก็ได้

3. วิชา Computer System Security เป็นวิชาระดับปริญญาโท ซึ่งในภาควิชาฯ ของผมมีนิสิตภาคปกติและภาคนอกเวลาราชการ ปรากฏว่าปีนี้นิสิตภาคปกติเรียนวิชา Security มากที่สุดเท่าที่เคยเปิดสอนคือ มีถึง 35 คน ซึ่งจริง ๆ จำกัดไว้เพียง 30 คนเท่านั้น ซึ่งนับว่าแปลกมาก เพราะแต่เดิมวิชา Security จะมีนิสิตเรียนเพียง 20 กว่าคนเท่านั้น ดังนั้นปีนี้จึงมีนิสิตภาคปกติเรียนวิชา Security มากที่สุดเท่าที่เคยเปิดสอน

ในทางตรงกันข้าม วิชา Security ซึ่งเปิดสำหรับภาคนอกเวลาในวันอาทิตย์บ่าย มีคนเรียนเพียงคนเดียวเท่านั้น จึงมีผลทำให้ต้องปิดตอนเรียนนี้โดยปริยาย เพราะการจะเปิดวิชาภาคนอกเวลาได้นั้น จะต้องมีอย่างน้อย 5 คนขึ้นไป ปีที่แล้ว ก็เช่นเดียวกัน คือไม่มีใครเรียนวิชา Security ของภาคนอกเวลาเลย สาเหตุที่ไม่มีคนเรียน Security ในวันอาทิตย์บ่ายนั้น สาเหตุอาจเป็นเพราะ

1. วันอาทิตย์บ่าย มีวิชาบังคับซึ่งนิสิตป.โทปี 1 ทุกคนต้องเรียน ดังนั้นนิสิตปี 1 จะไม่สามารถเรียน Security ได้ เนื่องจากเวลาชนกัน
2. จากเหตุผลในข้อ 1 จึงทำให้ไม่มีวิชาอื่นเปิดสอนในวันอาทิตย์บ่ายนอกจากวิชา Security ดังนั้นทำให้นิสิตปี 2 ไม่จำเป็นต้องเรียนหรือมาในวันอาทิตย์บ่าย จึงทำให้ไม่มีใครอยากเรียนวิชา Security นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การที่ผมไม่ต้องสอนวันอาทิตย์บ่าย ทำให้ผมมีเวลาไปร่วมฟังสัมมนาที่น่าสนใจ ซึ่งมักจัดในวันอาทิตย์ หรือเสาร์ อาทิตย์ เช่น ผมเพิ่งไปฟังสัมมนาของอาจารย์บุญเลิศ สายสนิทเกี่ยวกับการโปรแกรมจิต และตั้งใจว่าจะหาโอกาสไปฟังการบรรยายของโค้ชสิริลักษณ์ ตันสิริ หรืองานสัมมนาอื่น ๆ ที่อัมรินทร์จัดครับ

สรุปแล้ว เทอมต้นปีนี้มีสถิติการลงทะเบียนมากที่สุดและน้อยที่สุดเท่าที่ผมเคยสอนครับ

17 มิถุนายน 2552

ทำไมสอบวิทยานิพนธ์ไม่ผ่าน ตอนที่ 1



บทความนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Go Training ฉบับเดือนมิถุนายน 2552 ครับ และตอนจบจะตีพิมพ์ในฉบับเดือนกรกฏาคม 2552 ครับ
ในการเรียนระดับปริญญาโทนั้น ผู้เรียนจะต้องเรียนเนื้อหารายวิชาและต้องทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดในการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท โดยทั่วไปแล้ว ผู้เรียนมักจะไม่มีปัญหาเรื่องการเรียนเนื้อหารายวิชา อาจได้เกรดเอหรือบีบ้างแล้วแต่ความยากง่ายของแต่ละวิชา บางคนอาจได้เกรดซีในบางวิชาที่ค่อนข้างยาก แต่ก็สามารถผ่านพ้นไปได้ แต่นักศึกษาจะพบอุปสรรคใหญ่หลวงในการทำวิทยานิพนธ์ ตั้งแต่การหาหัวข้อวิทยานิพนธ์ ซึ่งระเบียบกำหนดว่าจะต้องหาหัวข้อให้ได้ภายในสองปี จากนั้นก็ผ่านเข้าสู่กระบวนการสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ การทำวิทยานิพนธ์ และด่านสุดท้ายคือการสอบวิทยานิพนธ์

จากประสบการณ์ในการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ผมได้พบนักศึกษาหลายคนที่สอบวิทยานิพนธ์ไม่ผ่านหรือสอบวิทยานิพนธ์ตก ทำให้ไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายยิ่ง ดังนั้นผมจึงลองวิเคราะห์สาเหตุที่นักศึกษาสอบวิทยานิพนธ์ไม่ผ่าน และรวบรวมเหตุผลดังกล่าวในบทความนี้ เพราะผมเชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาโทหรือสนใจจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทครับ

เหตุผลที่สอบวิทยานิพนธ์ไม่ผ่าน ได้แก่

1. เริ่มทำวิทยานิพนธ์ตอนใกล้กำหนดเส้นตายส่ง

หลังจากที่สอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ผ่านแล้ว นักศึกษาหลายคนก็โล่งอกที่ผ่านด่านแรกไปได้ และละเลยไม่สนใจที่จะรีบทำวิทยานิพนธ์ เพราะคิดว่ายังเหลือเวลาอีกนาน ไม่ต้องรีบร้อนก็ได้ ถ้าเป็นนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรปกติ คือเรียนเต็มเวลาในเวลาราชการ ส่วนใหญ่นักศึกษาประเภทนี้ยังไม่ได้ทำงานเต็มเวลา จึงได้เปรียบตรงที่มีเวลาว่างในเวลากลางวัน ดังนั้นสามารถใช้เวลากลางวันในการทำวิทยานิพนธ์ และนัดพบอาจารย์ที่ปรึกษาได้สะดวก ส่วนนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรนอกเวลาราชการ เช่น เรียนตอนเย็นหรือวันเสาร์ อาทิตย์ ส่วนใหญ่มักมีงานประจำอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาหลังเลิกงานเพื่อทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งในบางครั้งงานประจำก็เต็มมืออยู่แล้ว ทำให้แทบไม่มีเวลาทำวิทยานิพนธ์ จึงเร่งทำตอนใกล้กำหนดส่ง เช่น ถ้ากำหนดสอบเส้นตายวิทยานิพนธ์คือวันที่ 30 เมษายน นักศึกษาหลายคนจะเริ่มทำวิทยานิพนธ์ประมาณต้นเดือนมกราคม จึงทำให้ทำวิทยานิพนธ์ไม่ทัน

ดังนั้นนักศึกษาควรรีบทำวิทยานิพนธ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ครับ ไม่ว่านักศึกษาจะเรียนหลักสูตรในเวลาราชการ หรือนอกเวลาราชการ ก็ไม่ควรชะล่าใจ ปล่อยทิ้งเอาไว้ เพราะยิ่งทิ้งไว้นานเท่าใด ความกระตือรือร้นในการทำวิทยานิพนธ์จะยิ่งน้อยลง จนถึงขั้นไม่อยากทำ โดยทั่วไปแล้ว วิทยานิพนธ์ใช้เวลาในการทำตั้งแต่ครึ่งปีถึงหนึ่งปี แล้วแต่ความยากง่ายของหัวข้อ ดังนั้นยิ่งทำเร็วเท่าใด ยิ่งดีเท่านั้นครับ

วิธีหนึ่งที่เป็นประโยชน์ คือ พยายามรวมกลุ่มกับเพื่อนที่ทำวิทยานิพนธ์ในรุ่นเดียวกัน และนัดพบปะกัน เช่น พบกันเดือนละหนึ่งครั้งเพื่อสอบถามความก้าวหน้าในการทำวิทยานิพนธ์ของกันและกัน หรือให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และที่สำคัญที่สุด คือหมั่นพบอาจารย์ที่ปรึกษาสม่ำเสมอครับ เพราะหน้าที่ของอาจารย์ที่ปรึกษาคือการให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาและให้แนวทางหรือชี้แนะทิศทางในการทำวิทยานิพนธ์ แต่หน้าที่ในการทำวิทยานิพนธ์เป็นของนักศึกษาครับ การเรียนในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกนั้น นักศึกษาจะต้องรับผิดชอบตัวเองและมีวินัยเป็นอย่างสูง ดังนั้นนักศึกษาต้องคอยหมั่นกระตุ้นตนเองเสมอครับ

ในกรณีที่นักศึกษามาเร่งทำวิทยานิพนธ์ตอนใกล้เส้นตาย และเป็นนักศึกษาภาคนอกเวลาราชการ ผมแนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้ ควรขอลาพักร้อนหรือลางานชั่วคราว เพื่อทุ่มเททำงานวิทยานิพนธ์ให้เต็มที่ เพราะเวลามีน้อยอยู่แล้ว ถ้าไม่ให้เวลาอย่างเต็มที่ โอกาสที่จะทำวิทยานิพนธ์เสร็จมีน้อยมากครับ

2. ขาดแรงจูงใจ

ถ้านักศึกษาคิดหัวข้อวิทยานิพนธ์ด้วยตัวเอง และสามารถสอบผ่านหัวข้อวิทยานิพนธ์แล้ว แสดงว่านักศึกษามีความสนใจหัวข้อนั้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเพราะเป็นเรื่องที่ตนเองคิดขึ้นเองและต้องการทำ แต่ในบางกรณี นักศึกษาอาจได้หัวข้อวิทยานิพนธ์จากอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งเป็นหัวข้อที่อาจารย์ที่ปรึกษาสนใจ แต่นักศึกษาอาจไม่สนใจมากนัก เช่น เมื่อใกล้กำหนดสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ นักศึกษาก็รีบ “หยิบ” หัวข้ออะไรก็ได้จากอาจารย์ เพราะจะต้องสอบหัวข้อแล้ว ทำให้นักศึกษาไม่มีความกระตือรือร้นหรือขาดแรงจูงใจไม่อยากทำ ในบางกรณี ระหว่างที่นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ ก็เกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากทำ และหยุดทำดื้อ ๆ คือเลิกเรียนหรือลาออก

ดังนั้นก่อนที่นักศึกษาจะเลือกทำหัวข้อวิทยานิพนธ์ใดก็ตาม ควรถามตนเองว่า มีความสนใจและต้องการทำหัวข้อนั้นจริงหรือไม่ นักศึกษาไม่ควรเลือกหัวข้อเพียงเพราะต้องการให้สอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ผ่านภายในเวลาที่กำหนดหรือไม่ทราบว่าจะทำเรื่องอะไรดี จึงเลือกเรื่องอะไรก็ได้ที่อาจารย์ที่ปรึกษากำหนดมาให้เพราะการทำวิทยานิพนธ์จะต้องใช้เวลาและความต่อเนื่องในการทำ บางครั้งอาจเกิดความเบื่อหน่ายในบางช่วง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา หรือนักศึกษาอาจเกิดปัญหาในชีวิต เช่น ทะเลาะกับแฟน มีปัญหาสุขภาพ มีปัญหากับครอบครัว เปลี่ยนงาน เป็นต้น ในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาเหล่านี้ นักศึกษาจะไม่มีสมาธิพอที่จะทำวิทยานิพนธ์ได้ จนกว่าจะผ่านพ้นช่วงนั้นแล้ว

ส่วนใหญ่แล้ว สาเหตุที่นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ไม่สำเร็จ ไม่ใช่เพราะขาดความรู้หรือทักษะด้านวิชาการ แต่มักเกิดจากการขาดความเพียรหรือกำลังใจที่แน่วแน่ในการทำวิทยานิพนธ์ให้สำเร็จลุล่วง ดังนั้นนักศึกษาควรกระตุ้นและปลุกเร้าตนเองอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งปัจจุบันมีหนังสือแนวจิตวิทยาจำนวนมากที่ให้คำแนะนำด้านนี้อยู่แล้วครับ ลองไปหาอ่านและฝึกฝนดูครับ

3. การนำเสนอไม่ชัดเจน

นักศึกษาหลายคนได้ทำวิทยานิพนธ์และเขียนรูปเล่มมาเป็นอย่างดี แต่ตกม้าตายตอนสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์ เนื่องจากนำเสนอไม่ชัดเจน ไม่สามารถทำให้กรรมการสอบวิทยานิพนธ์เข้าใจได้ สาเหตุที่นำเสนอไม่ชัดเจน เช่น

· ใช้เวลาในการนำเสนอน้อยเกินไปหรือนานเกินไป อันที่จริง ก่อนที่นักศึกษาจะสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์นั้น ควรฝึกซ้อมการนำเสนอก่อน เช่น นำเสนอให้เพื่อนหรืออาจารย์ที่ปรึกษาฟังก่อนหนึ่งรอบ เพื่อที่จะได้เสียงสะท้อนของการนำเสนอ และปรับปรุง แก้ไข ให้ดีขึ้นก่อนการสอบ ในกรณีที่นำเสนอสั้นเกินไป กรรมการสอบวิทยานิพนธ์ก็อาจสงสัยว่า เนื้องานวิทยานิพนธ์คืออะไร ถ้านำเสนอนานเกินไป ก็จะน่าเบื่อ ส่วนใหญ่แล้ว ผมมักพบการนำเสนอนานเกินไป จะไม่ค่อยพบการนำเสนอที่สั้นเกินไปครับ

· สไลด์ที่ใช้ในการนำเสนอไม่เหมาะสม เช่น มีข้อความเต็มไปหมด ทำให้สไลด์ไม่น่าสนใจ และชวนง่วงนอน นอกจากนี้ นักศึกษาบางคนพูดหรือท่องข้อความในสไลด์ ซึ่งเป็นการนำเสนอที่น่าเบื่อมาก เนื้อความในสไลด์ควรสรุปประเด็นสำคัญเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใส่ข้อความทั้งหมด และควรมีภาพประกอบหรือภาพเคลื่อนไหว เพื่อสื่อเนื้อความที่ต้องการ

· นักศึกษาอธิบายไม่รู้เรื่อง หัวข้อบางเรื่องอาจเป็นเรื่องที่กรรมการสอบบางท่านไม่ถนัด หรือเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ ซึ่งนักศึกษาอาจมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นเป็นอย่างดี ดังนั้นนักศึกษาควรยกตัวอย่างหรือการอุปมา อุปไมย เพื่ออธิบายเนื้อความให้ชัดเจน

· นักศึกษาไม่ได้เน้นงานของตนเอง ทำให้กรรมการสอบไม่เข้าใจว่าเนื้องานวิทยานิพนธ์ที่นักศึกษาทำคืออะไร เช่น ใช้เวลากล่าวถึงทฤษฏีหรืองานวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาก แต่ใช้เวลาในการกล่าวถึงเนื้องานวิทยานิพนธ์ตนเองสั้นเกินไป การสอบวิทยานิพนธ์ก็เหมือนการขายสินค้าครับ ดังนั้นนักศึกษาควรเน้นจุดเด่นของงานวิทยานิพนธ์และใช้เวลากับตรงนี้ให้มากที่สุด และควรเปรียบเทียบงานของตนเองกับงานวิจัยของผู้อื่นที่ใกล้เคียง เพื่อที่กรรมการสอบจะได้เข้าใจเนื้อหางานของนักศึกษาได้ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ

นักศึกษาควรหาโอกาสฟังการสอบวิทยานิพนธ์ของรุ่นพี่หรือเพื่อนร่วมรุ่น เพราะทำให้มีประสบการณ์และเห็นรูปแบบการนำเสนอทั้งที่ดีและไม่ดี เพื่อจะได้เตรียมการนำเสนอของตนเองได้อย่างเหมาะสมครับ