31 พฤษภาคม 2552

การใช้ Mind Map เป็น Wedding Planner


บทความนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Go Training ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ครับ บทความตอนต่อไปที่จะเขียนถัดจากบทความนี้คือ "การใช้ Mind Map เป็น Baby Planner" คาดว่าจะเขียนประมาณเดือนมกราคม 2553 หลังจากที่เจ้าตัวน้อยคลอดออกมาครับ

20 พฤษภาคม 2552

ของเล่นฝึกความคล่องแคล่วของมือ






เนื้อหาครั้งนี้มาจากบทความเรื่อง "จักกลิ้ง รูบิค โยโย่ ควงปากกา เกี่ยวข้องอะไรกับการเรียนคอมพิวเตอร์ ?" ซึ่งผมเขียนและตีพิมพ์ในวารสาร Go Training ฉบับเดือนเมษายน 2552 ครับ

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2552 ถ้าใครได้ไปที่ห้องเรียนของภาควิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเห็นว่ามีนิสิตบางคนกำลังเล่นรูบิค บางคนกำลังโยนจักกลิ้ง หลายคนกำลังโยนโยโย่ด้วยกัน และอีกหลายคนจับกลุ่มนั่งควงปากกากัน คงจะสงสัยว่านิสิตเหล่านี้กำลังทำอะไรกันอยู่ ?

ที่จริง พวกเขากำลังเตรียมตัวสอบวิชา Hack Your Mind (รายละเอียดของเนื้อหาวิชานี้สามารถอ่านจากวารสาร Go Training ฉบับเดือนมีนาคม 2552 ครับ) ผมได้กำหนดการทดสอบที่เรียกว่า “การแสดงทักษะของเล่นที่ใช้ความคล่องแคล่วของมือ” ซึ่งผู้เรียนทุกคนจะต้องแสดงทักษะของเล่นอย่างใดอย่างหนึ่งได้แก่ จักกลิ้ง โยโย่ ควงปากกา โดยแสดงอย่างน้อย 4 ท่า และรูบิคนั้นจะต้องทำให้ผ่านอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยให้เลือกของเล่นตามความสมัครใจ

หลายท่านคงสงสัยว่า ผมให้นิสิตคอมพิวเตอร์สอบทักษะของเล่นเหล่านี้เพื่ออะไร ? ทำไมไม่สอบการขียนโปรแกรมหรือสร้างเว็บไซต์หรือสร้างหุ่นยนตร์ซึ่งน่าจะตรงกับศาสตร์คอมพิวเตอร์โดยตรงมากกว่า ?

แน่นอนครับว่านิสิตคอมพิวเตอร์ได้ทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นมาแล้วอย่างมาก ทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนหรือการเข้าร่วมแข่งขันด้านคอมพิวเตอร์โดยสมัครใจ อย่างไรก็ตาม งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือคอมพิวเตอร์ เป็นงานที่ใช้ฐานคิดหรือใช้สมองอย่างมาก ปัจจุบันนักศึกษาที่เรียนด้านคอมพิวเตอร์ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เช่น การพิมพ์งาน เขียนโปรแกรม เล่นเกมออนไลน์ เว็บ แชต ฯลฯ ยิ่งปัจจุบันโทรศัพท์มือถือเป็นปัจจัยที่ห้าไปแล้ว ทำให้นักศึกษาใช้เวลาว่างที่หลงเหลืออยู่กับโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น นักศึกษาจำนวนมากขาดการออกกำลังกาย สายตาและร่างกายตึงเครียดเพราะไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ อีกทั้งสมองเหนื่อยล้าเพราะใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานาน

ดังนั้นงานอดิเรกที่เหมาะกับวิชาชีพฐานคิด เช่น นักคอมพิวเตอร์ ควรเป็นกิจกรรมที่ใช้ฐานกายเพื่อทำให้เกิดความสมดุลในชีวิต หรือเป็นกิจกรรมที่ทำให้สมองได้พักผ่อน หรือพัฒนาสมองให้ทำงานดียิ่งขึ้น ปัจจุบันเชื่อกันว่าความสามารถในการใช้มืออย่างคล่องแคล่วทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้นด้วย อีกทั้งช่วยฝึกสมาธิ ประสาทสัมผัสด้านต่าง ๆ

ไมเคิล เจ เกลบ์(Micahel J. Gelb) ผู้เขียนหนังสือขายดีหลายเล่มเคยเขียนว่า เขาได้ไปสัมภาษณ์ศาสตราจารย์เรย์มอนด์ ดาร์ท (Raymond Dart) ซึ่งเป็นนักมนุษยวิทยา และนักกายวิภาคที่มีชื่อเสียง โดยถามว่า เขาต้องการฝากข้อความใดถึงมนุษยชาติรุ่นถัดไป เรย์มอนด์ตอบว่า “บอกพวกเขารักษาสมองให้สมดุล รักษาร่างกายให้สมดุล อนาคตของมนุษยชาติอยู่ที่ผู้ถนัดทั้งสองมือ” โรเจอร์ วอน โอช(Roger Von Oech) นักเขียนหนังสือด้านความคิดสร้างสรรค์ที่มีชื่อเสียงก้องโลก กล่าวว่า ในขณะที่เขากำลังแก้ปัญหาที่ยุ่งยากหรือใช้ความคิดสร้างสรรค์ เขามักใช้มือจับสิ่งของหรือทำสิ่งต่าง ๆ ไปด้วย ซึ่งทำให้ความคิดของเขาโลดแล่นขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะให้ลูกศิษย์ของผมได้ลองเปลี่ยนกิจกรรมบ้าง โดยเสนอการทดสอบของเล่นที่ใช้ความคล่องแคล่วของมือ ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า dexterity toy ซึ่งผมเลือกของเล่น คือ จักกลิ้ง โยโย่ ควงปากกา และรูบิค ด้วยเหตุผลดังนี้

  • สามารถหาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง เช่น ลูกจักกลิ้งสามารถซื้อได้ที่ถนนข้าวสาร ราคาชุดละ 100 บาท โยโย่ราคาประมาณ 100 บาท (อาจราคาสูงกว่านี้ ขึ้นกับคุณภาพ) ส่วนรูบิคราคาถูกกว่านั้นอีก ควงปากกา ก็ใช้ปากกาอะไรก็ได้
  • สามารถฝึกฝนได้ด้วยตนเอง เพราะสามารถหาคู่มือการเล่น หนังสือ วิดีโอคลิป ผู้รู้ ได้จากอินเทอร์เน็ต และประเทศไทยก็มีกลุ่มที่สนใจของเล่นเหล่านี้อยู่พอสมควร
  • เป็นงานอดิเรกและสามารถใช้ในการเข้าสังคมได้เป็นอย่างดี
  • สามารถฝึกต่อเนื่องไปได้เรื่อย ๆ เพราะมีกระบวนท่าใหม่ ๆ ให้ฝึกฝนได้ตลอดเวลา ถ้าใครที่ “เจ๋ง” ก็อาจไปร่วมแข่งขันได้ เป็นการเพิ่มประสบการณ์ชีวิตอีกด้าน
  • เป็นการฝึกสมาธิภายในตัว เพราะต้องตั้งใจจดจ่อ จึงจะฝึกได้สำเร็จ
  • สนุกสนานทั้งตัวอาจารย์และผู้เรียน !!! นี่คงเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งด้วยกระมังครับ
นิสิตหลายคนให้ความเห็นว่า ต้องการให้มีการสอบทักษะของเล่นเหล่านี้ในรุ่นถัดไป เพราะทำให้สนุกสนาน และผ่อนคลายจากความตึงเครียดที่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ

ดังนั้น ท่านผู้อ่านท่านใดที่สนใจ อาจลองเลือกของเล่นสักหนึ่งอย่าง แล้วลองหัดเล่นดู ใครจะไปรู้ คุณอาจมีพรสวรรค์ที่ซ่อนเร้นอยู่ก็ได้นะครับ

วันนี้ คุณใช้ “มือ” แล้วยังครับ ?

ข้อมูลเพิ่มเติม
ของเล่นที่ใช้ความคล่องแคล่วของมือ http://en.wikipedia.org/wiki/Dexterity_play
เว็บไซต์จักกลิ้งของไทย http://www.jugglingplus.com/
เว็บไซต์ควงปากกาของไทย http://www.thaispinner.com/
เว็บไซต์รูบิคของไทย http://www.thailandcube.com/
เว็บไซต์โยโย่ของไทย http://www.yoyothailand.com/

19 พฤษภาคม 2552

การก้าวข้ามกับดักของผู้เชี่ยวชาญ


ผมได้ส่งบทความเรื่อง "การก้าวข้ามกับดักของผู้เชี่ยวชาญ" เพื่อตีพิมพ์ในคอลัมน์ Guest Corner ของวารสาร Go Training ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552 จึงขอนำบทความนี้มาเผยแพร่ใน blog ของผมครับ

เคยได้อ่านข้อความที่ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีชื่อเสียงต่อไปนี้พูดไหมครับ ?

ผู้อำนวยการสำนักงานจดสิทธิบัตรของสหรัฐเคยเสนอให้ยุบสำนักงานจดสิทธิบัตรในปีค.ศ. 1899 เพราะว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สามารถประดิษฐ์ ได้ถูกคิดค้นจนหมดแล้ว”

ลอร์ด เคลวิน ประธานราชบัณฑิตแห่งอังกฤษกล่าวว่า “เครื่องจักรบินได้ที่หนักกว่าอากาศไม่มีทางเป็นไปได้”

ประธานบริษัทวอร์เนอร์ บราเธอร์กล่าวในขณะที่หนังเงียบเฟื่องฟูว่า “ไม่มีใครอยากฟังเสียงดาราพูดในภาพยนตร์หรอก”

บิล เกตส์แห่งไมโครซอฟต์เคยกล่าวว่า “หน่วยความจำ 640 กิโลไบต์เพียงพอสำหรับทุกคน”

ถ้าท่านผู้อ่านลองค้นหาใน Google แล้วใส่คำว่า “missed predictions” หรือ “predictions that missed the mark” ซึ่งหมายถึงคำทำนายที่ผิดพลาด จะพบข้อความหรือคำทำนายจำนวนมากที่กล่าวโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำพูดในทำนองว่า สิ่งนั้นเป็นไปไม่ได้ หรือไม่มีความสำคัญ แต่ผิดพลาดไม่ตรงกับความจริงในปัจจุบัน ข้อความที่ยกมาข้างบนคือส่วนหนึ่งของคำทำนายที่ผิดพลาดนั่นเอง

การที่ผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงกล่าวข้อความหรือคำทำนายบางอย่างที่ผิดพลาด ทั้งๆ ที่พวกเขามีประสบการณ์หรือมีความรู้เป็นอย่างดีในวงการนั้น ก็เพราะความเป็นผู้เชี่ยวชาญทำให้พวกเขามองเห็นในสิ่งที่พวกเขาเคยเห็นหรือเคยเรียนรู้และยึดติดกับกรอบความรู้เดิมจนพลาดการมองเห็นโอกาสใหม่ ๆ ผมขอเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า “กับดักของผู้เชี่ยวชาญ”

เราจะหลีกเลี่ยงกับดักของผู้เชี่ยวชาญได้อย่างไร ? ผมขอแนะนำ “กฎสามข้อของคล้าก” เพื่อหลีกเลี่ยงกับดักของผู้เชี่ยวชาญครับ ผู้เสนอกฎสามข้อของคล้ากคือ เซอร์ อาเธอร์ ซี คล้าก ( Sir Arthur C. Clarke 1917-2008 ) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งมีผลงานมากมาย เช่น 2001 จอมจักรวาล (2001 : A Space Odyssey) , สู่สวรรค์ (The Fountains of Paradise) , ดุจดั่งอวตาร (Rendezvous with Rama)

กฏสามข้อของคล้ากมีรายละเอียดดังนี้

1. เมื่อใดก็ตามที่นักวิทยาศาสตร์อาวุโสที่มีชื่อเสียงกล่าวว่าสิ่งใดเป็นไปได้ มีแนวโน้มสูงว่าเขาจะถูก ถ้าเขากล่าวว่าสิ่งใดเป็นไปไม่ได้ มีแนวโน้มสูงว่าเขาจะผิด
กฎข้อหนึ่งสามารถใช้ได้กับทุกวงการ ไม่จำเป็นว่าใช้กับวงการวิทยาศาสตร์เท่านั้น ถ้าเราเปลี่ยนคำว่า “นักวิทยาศาตร์อาวุโสที่มีชื่อเสียง” เป็น “ผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียง” เราจะพบว่ากฎข้อหนึ่งคือคำแนะนำแก่ผู้เชี่ยวชาญทุกคนนั่นเอง และช่วยเตือนใจเราเรื่องกับดักของผู้เชี่ยวชาญได้เป็นอย่างดี

ผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงหลายคน “หน้าแตก” เพราะพูดว่าบางสิ่งเป็นไปไม่ได้ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เคยกล่าวในทำนองว่า ระเบิดปรมาณูไม่สามารถเป็นไปได้ เฟร็ด สมิธ ผู้ก่อตั้งเฟดเดอรัล เอ็กซเพรสเคยเสนอแนวคิดแก่อาจารย์เรื่องไปรษณีย์ที่รวดเร็วแต่คิดค่าบริการเพิ่มเติมในขณะที่เรียนมหาวิทยาลัย แต่โดนอาจารย์ตอบกลับมาว่า “ถ้าอยากได้เกรดที่ดีกว่าซีแล้วละก็ ขอให้เสนอแนวคิดที่เป็นไปได้มากกว่านี้” ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยก็ยังคาดการณ์ผิดได้เช่นกัน

2. วิธีเดียวในการค้นหาขีดจำกัดของความเป็นไปได้ คือ การก้าวข้ามมันสักเล็กน้อยไปสู่ความเป็นไปไม่ได้
บางครั้ง “ความเป็นไปไม่ได้” คือสิ่งที่เราทึกทักเองในจิตใจมากกว่า ถ้ามองในมุมมองของการพัฒนาตนเอง กฎข้อนี้คือการออกนอกกรอบความเคยชินหรือ Comfort Zone นั่นเอง เราอาจคิดว่าไม่สามารถทำบางอย่างได้ เช่น การอดอาหารเย็น แต่สำหรับผู้ชายที่บวชพระและต้องงดอาหารเย็นโดยสิ้นเชิง เขาจะต้องทำให้ได้ หรือการเลิกพฤติกรรมบางอย่างที่ติดงอมแงม และจำเป็นต้องเลิกให้ได้เพื่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา หลายคนก็สามารถเลิกนิสัยที่ไม่ดีเหล่านั้นได้

หลายปีก่อน ผมรู้จักเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งเรียนปริญญาโทด้านคอมพิวเตอร์และเริ่มทำวิทยานิพนธ์เพียงเล็กน้อย เพราะยังมีเวลาเหลืออีกสองปี แต่เนื่องจากอาจารย์ที่ปรึกษาให้เกรดวิทยานิพนธ์ผ่านทั้งหมด ทำให้รุ่นพี่ผมต้องทำวิทยานิพนธ์ทั้งหมดให้เสร็จภายในหนึ่งภาคการศึกษา มิฉะนั้นจะถูกให้ออกตามระเบียบของมหาวิทยาลัย โดยปกติแล้ว นักศึกษาส่วนใหญ่จะคิดว่าการทำวิทยานิพนธ์ให้สำเร็จในหนึ่งภาคการศึกษาเป็น “เรื่องที่เป็นไปไม่ได้” แต่เนื่องจากสถานการณ์บังคับ ในเทอมนั้นรุ่นพี่ผมจึงต้องทุ่มเทเต็มที่เพื่อทำวิทยานิพนธ์ให้สำเร็จให้ได้ภายในหนึ่งภาคการศึกษา และสามารถสอบผ่านได้สำเร็จ กลายเป็นว่าเขาสามารถจบเป็นคนแรกๆ ของรุ่นโดยไม่ได้ตั้งใจ

ท่านผู้อ่านอาจเคยได้ยินเรื่องเล่าขานว่า นโปเลียน โบนาปาร์ต จักรพรรดินักรบแห่งฝรั่งเศสต้องการลบคำว่า “เป็นไปไม่ได้” ออกจากพจนานุกรม เพราะนโปเลียนคิดว่า “ในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้”

3. เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากพอจะไม่แตกต่างจากเวทย์มนต์
กฎข้อนี้มักกล่าวถึงในนิยายวิทยาศาสตร์และภาพยนตร์อยู่เสมอ เช่น เล็กซ์ ลูเธอร์ ซึ่งเป็นคู่ปรับของซุปเปอร์แมนได้กล่าวประโยคนี้ในภาพยนตร์เรื่อง “Superman Returns” ซึ่งอ้างถึงเทคโนโลยีของดาวคริปตันซึ่งเป็นดาวเกิดของซุปเปอร์แมน

ตัวละครสำคัญในภาพยนตร์ชุด “สตาร์ วอร์ส” คืออัศวินเจไดซึ่งมีความสามารถพิเศษในการใช้พลังจิตควบคุมวัตถุให้เคลื่อนที่ได้ หลายคนอยากมีพลังเช่นนั้นบ้าง แต่คงได้แต่ฝันและคิดว่าเป็นเพียงจินตนาการเท่านั้น แต่ปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถใช้คลื่นสมองควบคุมวัตถุกายภาพได้แล้ว เช่นบริษัทแห่งหนึ่งกำลังพัฒนาของเล่นที่ใช้ “คลื่นสมอง” ควบคุมลูกบอลให้เคลื่อนที่ได้ ชื่อ “Force Trainer” ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็นเทคโนโลยีหลายอย่างที่แปลกมหัศจรรย์มากขึ้น เช่น เราอาจได้ฟังเพลงที่ต้องการในเอ็มพี 3 โดยการคิดชื่อเพลงในใจเท่านั้น

อันที่จริงกฎทั้งสามข้อของคล้ากคือ คำแนะนำให้เราเปิดใจต่อความเป็นไปได้ทั้งหลาย ดังนั้นถ้าเราเปิดใจกว้าง ไม่ยึดติดกับกรอบความรู้ ประสบการณ์เดิม เราจะเห็นว่าทุกสิ่งเป็นไปได้เสมอ และเห็นโอกาสในทุกสิ่งทุกอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีในปัจจุบันกำลังพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้นสิ่งที่เคยเป็นความฝันในนิยายวิทยาศาสตร์จะเริ่มกลายเป็นความจริง สิ่งที่คนรุ่นก่อนได้แต่ฝัน จะกลายเป็นสิ่งที่คนรุ่นเราสามารถจับต้องได้

ผมขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยคำพูดที่โด่งดังของชุนเรียว ซูซูกิ (Shunryu Suzuki) ปรมาจารย์เซ็นชาวญี่ปุ่นว่า

“In beginner’s mind there are many possibilities
In expert’s mind there are only few.”

“ในจิตใจของผู้เริ่มต้นมีความเป็นไปได้มากมาย
ในจิตใจของผู้เชี่ยวชาญมีความเป็นไปได้เพียงเล็กน้อย”

ขอให้เรามีความรู้อย่างผู้เชี่ยวชาญ และมีจิตใจที่เปิดกว้างอย่างผู้เริ่มต้นกันเถิดครับ

17 พฤษภาคม 2552

ความเป็นมาของวิชาชี่กง

ไม่มีใครทราบครับว่าวิชาชี่กงกำเนิดมาตั้งแต่เมื่อใด ใครเป็นผู้ก่อตั้ง เพราะศาสตร์นี้มีมานานหลายพันปีแล้ว ชี่กงคือวิธีการรักษาตัวเองตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง เช่น เวลาเราปวดท้อง เราก็จะเอามือลูบหรือคลำบริเวณท้อง นวดไปได้สักพัก ก็อาจรู้สึกอาการดีขึ้น พอหลายคนทำอย่างนี้แล้วอาการดีขึ้น ก็เกิดเป็นท่าชี่กงขึ้นมา หรือถ้าปวดเอว ก็บิดตัวไปมา ทำให้สบายขึ้น ก็เกิดเป็นท่าชี่กงขึ้นมาได้

หลายท่านคงเคยได้ยินว่า สิ่งสำคัญในการศึกษาชี่กงคือ "เส้นประสาทลมปราณ" ซึ่งวิทยาศาสตร์ไม่สามารถค้นพบได้ว่าอยู่ที่ใด แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเส้นประสาทลมปราณมีจริง ?

ที่เรารู้ว่าร่างกายเรามีเส้นประสาทลมปราณก็เพราะว่าผู้มีจิตหยั่งรู้สมัยก่อนได้นั่งสมาธิและใช้ "ดวงตาภายใน" มองเห็นว่าในร่างกายของเรามีเส้นประสาทลมปราณต่าง ๆ เต็มไปหมด ถ้ามีเพียงคนเดียวเห็น ก็คงไม่น่าเชื่อถือเท่าไรนัก แต่ทว่าผู้มีจิตสมาธิชั้นสูงจำนวนมากเห็นตำแหน่งเส้นประสาทลมปราณเหมือนกัน จึงสรุปได้ว่าร่างกายเรามีจริง และเขียนเป็นตำราและสอนสืบทอดกันต่อมา ซึ่งเส้นประสาทลมปราณนี้เองก็ทำให้เราสามารถฝังเข็มตามจุดต่าง ๆ เพื่อให้เลือดลมเดินสะดวก และหายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วย

ชี่กงคือศาสตร์ที่ใช้พลังภายในของตัวเองรักษาตนเองหรือรักษาผู้อื่น ส่วนฝังเข็มเป็นการใช้เครื่องมือภายนอกเพื่อช่วยให้พลังที่อุดตันของคนไข้เดินได้สะดวก ในสมัยโบราณ มีการใช้หินแหลมแทนเข็มเพื่อรักษาจุดต่าง ๆ ส่วนฮวงจุ้ยคือการศึกษาเรื่องพลังของสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อตัวมนุษย์ ก็จัดได้ว่าเป็นการศึกษาชี่แขนงหนึ่งด้วยเช่นกัน

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมเกิดอาการคล้าย ๆ กับไหล่ติดหรือกล้ามเนื้อยึดทางด้านซ้าย เกิดอาการปวดและเคลื่อนไหวลำบากมาก ซึ่งผมเดาว่าคงเกิดจากการนอนผิดท่าในคืนนั้นเป็นเวลานาน จึงได้ไปพบแพทย์เพื่อให้ดูอาการและทานยาคลายกล้ามเนื้อ คุณหมอแนะนำว่า ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ให้ลองใช้วิธีฝังเข็มดู พอผมได้ยินเช่นนั้น ผมก็คิดในใจว่า "ถ้าฝังเข็มสามารถรักษาอาการกล้ามเนื้อยึดของผมได้ ผมน่าจะใช้ชี่กงแทน เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน และไม่ต้องเสียเงินด้วย" แต่โชคดีที่ทานยาวันสองวัน อาการก็หายเกือบเป็นปกติ

แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ เวลาที่ผมนั่งสมาธิเสี่ยวโจวเทียน บางครั้งจะเกิดอาการปวดบริเวณด้านหลังซ้าย และอาการที่ปวดก็จะขยับไปเรื่อย ๆ เหมือนกับหนอนที่ชอนไช ผมเดาว่าคงเป็นเพราะชี่อุดตัน ดังนั้นเวลาฝึกเสี่ยวโจวเทียนหรือชี่กง ก็จะเกิดพลังที่จะไปทะลุทะลวงส่วนที่อุดตัน และทำให้เกิดอาการปวด และเมื่อออกจากสมาธิแล้ว ส่วนที่ปวดนั้นก็หายเป็นปลิดทิ้ง

ตอนนี้วิทยาศาตร์สมัยใหม่เริ่มสนใจศาสตร์ด้านพลังงานมากขึ้น ซึ่งคนโบราณได้ค้นพบเรื่องนี้มานานแล้ว แต่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ต้องใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อใช้ในการตรวจจับพลังงานเหล่านี้ ในขณะที่คนโบราณใช้ "จิตที่เป็นสมาธิ" ในการค้นพบโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือใด ๆ ทั้งสิ้น