04 สิงหาคม 2552

ทำไมสอบวิทยานิพนธ์ไม่ผ่าน (ตอนจบ)




ผมเขียนบทความนี้เพื่อตีพิมพ์ในนิตยสาร Go Training ฉบับเดือนกรกฏาคม 2552 ครับ ซึ่งเป็นตอนต่อจากบทความที่ผมเขียนในฉบับเดือนมิถุนายน 2552


ฉบับที่แล้ว ผมได้กล่าวสาเหตุที่สอบวิทยานิพนธ์ไม่ผ่านสามข้อ ได้แก่ การเริ่มทำวิทยานิพนธ์ใกล้กำหนดส่ง การขาดแรงจูงใจ และการนำเสนอไม่ชัดเจน ฉบับนี้เราจะวิเคราะห์สาเหตุที่เหลือดังนี้ครับ

4. ทำงานไม่ครบตามขอบเขต

หลังจากที่นักศึกษาเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์แล้ว นักศึกษาจะต้องทำงานให้ครบตามขอบเขตวิทยานิพนธ์ตามที่ตัวเองเสนอไว้ และส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการตัดสินว่านักศึกษาได้ทำวิทยานิพนธ์ครบถ้วนหรือไม่ ถ้านักศึกษาได้กำหนดขอบเขตวิทยานิพนธ์ว่าจะทำห้าข้อ แต่เมื่อสอบจบ นักศึกษากลับทำได้เพียงสามข้อ กรรมการก็จะให้นักศึกษาสอบตกแน่นอน เพราะไม่สามารถทำได้ครบตามขอบเขต ดังนั้นนักศึกษาต้องแน่ใจว่า ทำวิทยานิพนธ์ได้ครบตามขอบเขตของหัวข้อที่เสนอไว้ ส่วนใหญ่ที่นักศึกษาทำงานไม่ครบตามขอบเขต เพราะทำไม่ทันนั่นเอง

แต่ถ้าระหว่างทำวิทยานิพนธ์ นักศึกษาพบว่าไม่สามารถทำขอบเขตบางข้อได้ตามที่เสนอไว้ เพราะสุดวิสัย ในกรณีนี้ นักศึกษาควรปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อขอคำแนะนำครับ

5. รูปเล่มวิทยานิพนธ์ไม่สมบูรณ์

นอกจากการสอบปากเปล่าแล้ว รูปเล่มวิทยานิพนธ์ก็เป็นส่วนสำคัญในการสอบวิทยานิพนธ์ สิ่งหนึ่งที่ทำให้กรรมการสอบวิทยานิพนธ์หงุดหงิดหรือรำคาญใจอย่างมากคือ วิทยานิพนธ์ที่มีคำสะกดผิดจำนวนมากเหมือนรายงานเด็กประถมมากกว่าวิทยานิพนธ์ ผมมักบอกนักศึกษาเสมอว่า ควรตรวจสอบคำสะกดทั้งหลายให้ถูกต้องก่อนที่จะส่งรูปเล่มแก่อาจารย์ที่ปรึกษาหรือกรรมการ แต่ก็ยังพบคำสะกดผิดอยู่เป็นประจำ

ส่วนสาเหตุที่ยังมีคำสะกดผิดนั้น อาจเป็นเพราะนักศึกษาหลายคนมักอ่านวิทยานิพนธ์จากจอคอมพิวเตอร์เพื่อหาคำผิด ดังนั้นจึงมองข้ามคำผิดโดยไม่รู้ตัว และเครื่องมือการตรวจสอบคำสะกดภาษาไทยในคอมพิวเตอร์นั้นก็ยังไม่ครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ผมแนะนำว่านักศึกษาควรพิมพ์รูปเล่มก่อน จากนั้นตรวจทานคำสะกดจากฉบับพิมพ์เพื่อตรวจทาน ก็จะทำให้มองเห็นคำผิดได้ง่ายขึ้น หรืออาจขอให้ผู้อื่น เช่น เพื่อนช่วยอ่านตรวจทานเพื่อตรวจสอบการสะกดให้ ก็จะทำให้ลดคำสะกิดผิดได้มากครับ (เห็นคำสะกดผิดเมื่อสักครู่ไหมครับ)

การใช้คำสะกดผิดอีกกรณีหนึ่งคือการใช้คำวิชาการที่สะกดไม่ถูกต้องตามศัพท์ที่บัญญัติไว้ ตัวอย่างเช่น คำว่า “ซอฟต์แวร์” หลายคนมักเขียนว่า “ซอฟท์แวร์” หรือ “ซอฟแวร์” ซึ่งเป็นคำสะกดที่ไม่ถูก ดังนั้นนักศึกษาควรตรวจสอบความถูกต้องของศัพท์วิชาการจากพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน หรือสามารถเข้าไปดูได้จากเว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสถานคือ http://www.royin.go.th/ บางคำอาจยังไม่มีการบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทย ดังนั้นนักศึกษาอาจใช้คำซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในวงการหรือทับศัพท์โดยวงเล็บภาษาอังกฤษด้วย เพื่อจะได้ทราบคำเดิมของศัพท์นั้น

นอกจากคำสะกดแล้ว การจัดเรียงบทของวิทยานิพนธ์ การใส่ภาพ ตาราง เอกสารอ้างอิง ก็มีความสำคัญเช่นกัน นักศึกษาควรตรวจสอบรูปแบบวิทยานิพนธ์จากมหาวิทยาลัยของตนเอง และดูตัวอย่างวิทยานิพนธ์ของรุ่นพี่ แต่ไม่ควรยึดถือวิทยานิพนธ์ของรุ่นพี่เป็นตัวอย่างที่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะบางทีวิทยานิพนธ์ของรุ่นพี่ก็ “มั่ว” เหมือนกันครับ

โดยสรุปแล้ว สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างง่ายดาย ถ้านักศึกษามีเวลาเพียงพอในการทำวิทยานิพนธ์ เพราะนักศึกษาสามารถตรวจทานและแก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ หรือไม่มีข้อผิดพลาดเลย นักศึกษาก็จะมีความภาคภูมิใจในวิทยานิพนธ์ฉบับนั้น และจบการศึกษาอย่างสง่างามสมกับเป็นมหาบัณฑิตครับ

แนะนำหนังสือสร้างกำลังใจ

ฉบับที่แล้ว ผมแนะนำว่าลองหาหนังสือแนวสร้างกำลังใจมาอ่าน จึงมีท่านผู้อ่านเสนอความเห็นว่าควรแนะนำชื่อหนังสือที่น่าสนใจ ผมจึงขอแนะนำหนังสือสร้างกำลังใจต่อไปนี้ครับ หนังสือเหล่านี้เป็นหนังสือที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษ บางเล่มก็อ่านหลายครั้งและได้มุมมองใหม่ ๆ ทุกครั้งเวลาอ่านครับ

1. “สร้างกำลังใจ” เขียนโดย อาจารย์เปลื้อง ณ นคร ผมซื้อหนังสือเล่มนี้เมื่อปีพ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่สิบสี่ และปัจจุบันก็ยังคงพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นคงไม่ต้องสงสัยว่าหนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมมากเพียงใดครับ หนังสือเล่มนี้รวบรวมบทความต่าง ๆ เชิงจิตวิทยาประยุกต์ ซึ่งแต่ละบทจะให้ข้อคิดและวิธีการปลุกกำลังใจให้เกิดขึ้น เช่น “ฝึกคิดให้ดีกับตนเอง” “เปลี่ยนความผิดหวังเป็นพลังใจ” “วิธีฝึกใจให้มีสมาธิ” “ทางไปสู่ความสำเร็จ” “เอาชนะดวงตัวเอง” แค่เห็นชื่อบทก็อยากอ่านแล้วใช่ไหมครับ

2. “เมื่อยักษ์ตื่น!” เขียนโดย โค้ชสิริลักษณ์ ตันสิริ หนังสือเล่มนี้เล่าประสบการณ์ของคุณสิริลักษณ์ ซึ่งเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจหญิงคนแรกของไทย และกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาตนเอง วิธีการปลุกใจให้ต่อสู้กับอุปสรรค การเอาชนะตนเอง การปลุกยักษ์ในตัวเอง เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ มีเนื้อหาเข้มข้น ลีลาการเขียนสนุกสนาน และมีแบบฝึกหัดมากมายที่ให้ฝึกฝนครับ

3. “วิธีชนะทุกข์และสร้างสุข” แปลจาก “How to stop worrying and start living” เขียนโดย เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) แปลโดย อาษา ขอจิตต์เมตต์ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือด้านการพิชิตความวิตกกังวลที่มีชื่อเสียงดังระดับโลก อันที่จริงหนังสือทุกเล่มของเดล คาร์เนกี้น่าอ่านมากครับ โดยเล่มนี้จะเน้นที่การพิชิตความวิตกกังวลต่าง ๆ และการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ถ้าคุณมีปัญหาที่แก้ไม่ตกและกลุ้มอกกลุ้มใจแล้วละก็ ลองอ่านเล่มนี้ดูสิครับ แล้วคุณจะรู้สึกว่า ควรอ่านตั้งนานแล้ว

4. “The Success Principle” เขียนโดย แจ็ค แคนฟิลด์ (Jack Canfield) หนังสือเล่มนี้มีความหนาเกือบ 500 หน้าและบรรจุแนวทางสู่ความสำเร็จทั้งหมด 64 บท เป็นหนังสือที่ผู้ต้องการประสพความสำเร็จทุกคนควรอ่านครับ เท่าที่ผมทราบ เล่มนี้ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย ดังนั้นผู้สนใจคงต้องอ่านฉบับภาษาอังกฤษไปก่อน ซึ่งสามารถหาซื้อได้จากร้านจำหน่ายหนังสือภาษาต่างประเทศชั้นนำครับ คำโปรยที่หน้าปกเขียนว่า “ถ้าคุณสามารถอ่านหนังสือเล่มเดียวในปีนี้แล้วละก็ โปรดอ่านเล่มนี้” ลองพิสูจน์ดูนะครับว่าจริงหรือไม่
ผมได้สรุปเนื้อหาของบทความทั้งสองตอนเป็น Mind Map ซึ่งแสดงในภาพข้างบน Mind Map นี้สร้างโดยใช้โปรแกรม iMindMap 4.0 ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ Mind Map ที่ Tony Buzan ปรมาจารย์ผู้คิดค้น Mind Map เป็นผู้รับรองโดยตรง และเป็นโปรแกรม Mind Map ที่วาดได้สวยที่สุด (คล้ายกับการใช้มือวาด)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น