20 พฤษภาคม 2552

ของเล่นฝึกความคล่องแคล่วของมือ






เนื้อหาครั้งนี้มาจากบทความเรื่อง "จักกลิ้ง รูบิค โยโย่ ควงปากกา เกี่ยวข้องอะไรกับการเรียนคอมพิวเตอร์ ?" ซึ่งผมเขียนและตีพิมพ์ในวารสาร Go Training ฉบับเดือนเมษายน 2552 ครับ

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2552 ถ้าใครได้ไปที่ห้องเรียนของภาควิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเห็นว่ามีนิสิตบางคนกำลังเล่นรูบิค บางคนกำลังโยนจักกลิ้ง หลายคนกำลังโยนโยโย่ด้วยกัน และอีกหลายคนจับกลุ่มนั่งควงปากกากัน คงจะสงสัยว่านิสิตเหล่านี้กำลังทำอะไรกันอยู่ ?

ที่จริง พวกเขากำลังเตรียมตัวสอบวิชา Hack Your Mind (รายละเอียดของเนื้อหาวิชานี้สามารถอ่านจากวารสาร Go Training ฉบับเดือนมีนาคม 2552 ครับ) ผมได้กำหนดการทดสอบที่เรียกว่า “การแสดงทักษะของเล่นที่ใช้ความคล่องแคล่วของมือ” ซึ่งผู้เรียนทุกคนจะต้องแสดงทักษะของเล่นอย่างใดอย่างหนึ่งได้แก่ จักกลิ้ง โยโย่ ควงปากกา โดยแสดงอย่างน้อย 4 ท่า และรูบิคนั้นจะต้องทำให้ผ่านอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยให้เลือกของเล่นตามความสมัครใจ

หลายท่านคงสงสัยว่า ผมให้นิสิตคอมพิวเตอร์สอบทักษะของเล่นเหล่านี้เพื่ออะไร ? ทำไมไม่สอบการขียนโปรแกรมหรือสร้างเว็บไซต์หรือสร้างหุ่นยนตร์ซึ่งน่าจะตรงกับศาสตร์คอมพิวเตอร์โดยตรงมากกว่า ?

แน่นอนครับว่านิสิตคอมพิวเตอร์ได้ทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นมาแล้วอย่างมาก ทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนหรือการเข้าร่วมแข่งขันด้านคอมพิวเตอร์โดยสมัครใจ อย่างไรก็ตาม งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือคอมพิวเตอร์ เป็นงานที่ใช้ฐานคิดหรือใช้สมองอย่างมาก ปัจจุบันนักศึกษาที่เรียนด้านคอมพิวเตอร์ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เช่น การพิมพ์งาน เขียนโปรแกรม เล่นเกมออนไลน์ เว็บ แชต ฯลฯ ยิ่งปัจจุบันโทรศัพท์มือถือเป็นปัจจัยที่ห้าไปแล้ว ทำให้นักศึกษาใช้เวลาว่างที่หลงเหลืออยู่กับโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น นักศึกษาจำนวนมากขาดการออกกำลังกาย สายตาและร่างกายตึงเครียดเพราะไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ อีกทั้งสมองเหนื่อยล้าเพราะใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานาน

ดังนั้นงานอดิเรกที่เหมาะกับวิชาชีพฐานคิด เช่น นักคอมพิวเตอร์ ควรเป็นกิจกรรมที่ใช้ฐานกายเพื่อทำให้เกิดความสมดุลในชีวิต หรือเป็นกิจกรรมที่ทำให้สมองได้พักผ่อน หรือพัฒนาสมองให้ทำงานดียิ่งขึ้น ปัจจุบันเชื่อกันว่าความสามารถในการใช้มืออย่างคล่องแคล่วทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้นด้วย อีกทั้งช่วยฝึกสมาธิ ประสาทสัมผัสด้านต่าง ๆ

ไมเคิล เจ เกลบ์(Micahel J. Gelb) ผู้เขียนหนังสือขายดีหลายเล่มเคยเขียนว่า เขาได้ไปสัมภาษณ์ศาสตราจารย์เรย์มอนด์ ดาร์ท (Raymond Dart) ซึ่งเป็นนักมนุษยวิทยา และนักกายวิภาคที่มีชื่อเสียง โดยถามว่า เขาต้องการฝากข้อความใดถึงมนุษยชาติรุ่นถัดไป เรย์มอนด์ตอบว่า “บอกพวกเขารักษาสมองให้สมดุล รักษาร่างกายให้สมดุล อนาคตของมนุษยชาติอยู่ที่ผู้ถนัดทั้งสองมือ” โรเจอร์ วอน โอช(Roger Von Oech) นักเขียนหนังสือด้านความคิดสร้างสรรค์ที่มีชื่อเสียงก้องโลก กล่าวว่า ในขณะที่เขากำลังแก้ปัญหาที่ยุ่งยากหรือใช้ความคิดสร้างสรรค์ เขามักใช้มือจับสิ่งของหรือทำสิ่งต่าง ๆ ไปด้วย ซึ่งทำให้ความคิดของเขาโลดแล่นขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะให้ลูกศิษย์ของผมได้ลองเปลี่ยนกิจกรรมบ้าง โดยเสนอการทดสอบของเล่นที่ใช้ความคล่องแคล่วของมือ ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า dexterity toy ซึ่งผมเลือกของเล่น คือ จักกลิ้ง โยโย่ ควงปากกา และรูบิค ด้วยเหตุผลดังนี้

  • สามารถหาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง เช่น ลูกจักกลิ้งสามารถซื้อได้ที่ถนนข้าวสาร ราคาชุดละ 100 บาท โยโย่ราคาประมาณ 100 บาท (อาจราคาสูงกว่านี้ ขึ้นกับคุณภาพ) ส่วนรูบิคราคาถูกกว่านั้นอีก ควงปากกา ก็ใช้ปากกาอะไรก็ได้
  • สามารถฝึกฝนได้ด้วยตนเอง เพราะสามารถหาคู่มือการเล่น หนังสือ วิดีโอคลิป ผู้รู้ ได้จากอินเทอร์เน็ต และประเทศไทยก็มีกลุ่มที่สนใจของเล่นเหล่านี้อยู่พอสมควร
  • เป็นงานอดิเรกและสามารถใช้ในการเข้าสังคมได้เป็นอย่างดี
  • สามารถฝึกต่อเนื่องไปได้เรื่อย ๆ เพราะมีกระบวนท่าใหม่ ๆ ให้ฝึกฝนได้ตลอดเวลา ถ้าใครที่ “เจ๋ง” ก็อาจไปร่วมแข่งขันได้ เป็นการเพิ่มประสบการณ์ชีวิตอีกด้าน
  • เป็นการฝึกสมาธิภายในตัว เพราะต้องตั้งใจจดจ่อ จึงจะฝึกได้สำเร็จ
  • สนุกสนานทั้งตัวอาจารย์และผู้เรียน !!! นี่คงเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งด้วยกระมังครับ
นิสิตหลายคนให้ความเห็นว่า ต้องการให้มีการสอบทักษะของเล่นเหล่านี้ในรุ่นถัดไป เพราะทำให้สนุกสนาน และผ่อนคลายจากความตึงเครียดที่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ

ดังนั้น ท่านผู้อ่านท่านใดที่สนใจ อาจลองเลือกของเล่นสักหนึ่งอย่าง แล้วลองหัดเล่นดู ใครจะไปรู้ คุณอาจมีพรสวรรค์ที่ซ่อนเร้นอยู่ก็ได้นะครับ

วันนี้ คุณใช้ “มือ” แล้วยังครับ ?

ข้อมูลเพิ่มเติม
ของเล่นที่ใช้ความคล่องแคล่วของมือ http://en.wikipedia.org/wiki/Dexterity_play
เว็บไซต์จักกลิ้งของไทย http://www.jugglingplus.com/
เว็บไซต์ควงปากกาของไทย http://www.thaispinner.com/
เว็บไซต์รูบิคของไทย http://www.thailandcube.com/
เว็บไซต์โยโย่ของไทย http://www.yoyothailand.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น