19 พฤษภาคม 2552

การก้าวข้ามกับดักของผู้เชี่ยวชาญ


ผมได้ส่งบทความเรื่อง "การก้าวข้ามกับดักของผู้เชี่ยวชาญ" เพื่อตีพิมพ์ในคอลัมน์ Guest Corner ของวารสาร Go Training ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552 จึงขอนำบทความนี้มาเผยแพร่ใน blog ของผมครับ

เคยได้อ่านข้อความที่ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีชื่อเสียงต่อไปนี้พูดไหมครับ ?

ผู้อำนวยการสำนักงานจดสิทธิบัตรของสหรัฐเคยเสนอให้ยุบสำนักงานจดสิทธิบัตรในปีค.ศ. 1899 เพราะว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สามารถประดิษฐ์ ได้ถูกคิดค้นจนหมดแล้ว”

ลอร์ด เคลวิน ประธานราชบัณฑิตแห่งอังกฤษกล่าวว่า “เครื่องจักรบินได้ที่หนักกว่าอากาศไม่มีทางเป็นไปได้”

ประธานบริษัทวอร์เนอร์ บราเธอร์กล่าวในขณะที่หนังเงียบเฟื่องฟูว่า “ไม่มีใครอยากฟังเสียงดาราพูดในภาพยนตร์หรอก”

บิล เกตส์แห่งไมโครซอฟต์เคยกล่าวว่า “หน่วยความจำ 640 กิโลไบต์เพียงพอสำหรับทุกคน”

ถ้าท่านผู้อ่านลองค้นหาใน Google แล้วใส่คำว่า “missed predictions” หรือ “predictions that missed the mark” ซึ่งหมายถึงคำทำนายที่ผิดพลาด จะพบข้อความหรือคำทำนายจำนวนมากที่กล่าวโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำพูดในทำนองว่า สิ่งนั้นเป็นไปไม่ได้ หรือไม่มีความสำคัญ แต่ผิดพลาดไม่ตรงกับความจริงในปัจจุบัน ข้อความที่ยกมาข้างบนคือส่วนหนึ่งของคำทำนายที่ผิดพลาดนั่นเอง

การที่ผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงกล่าวข้อความหรือคำทำนายบางอย่างที่ผิดพลาด ทั้งๆ ที่พวกเขามีประสบการณ์หรือมีความรู้เป็นอย่างดีในวงการนั้น ก็เพราะความเป็นผู้เชี่ยวชาญทำให้พวกเขามองเห็นในสิ่งที่พวกเขาเคยเห็นหรือเคยเรียนรู้และยึดติดกับกรอบความรู้เดิมจนพลาดการมองเห็นโอกาสใหม่ ๆ ผมขอเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า “กับดักของผู้เชี่ยวชาญ”

เราจะหลีกเลี่ยงกับดักของผู้เชี่ยวชาญได้อย่างไร ? ผมขอแนะนำ “กฎสามข้อของคล้าก” เพื่อหลีกเลี่ยงกับดักของผู้เชี่ยวชาญครับ ผู้เสนอกฎสามข้อของคล้ากคือ เซอร์ อาเธอร์ ซี คล้าก ( Sir Arthur C. Clarke 1917-2008 ) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งมีผลงานมากมาย เช่น 2001 จอมจักรวาล (2001 : A Space Odyssey) , สู่สวรรค์ (The Fountains of Paradise) , ดุจดั่งอวตาร (Rendezvous with Rama)

กฏสามข้อของคล้ากมีรายละเอียดดังนี้

1. เมื่อใดก็ตามที่นักวิทยาศาสตร์อาวุโสที่มีชื่อเสียงกล่าวว่าสิ่งใดเป็นไปได้ มีแนวโน้มสูงว่าเขาจะถูก ถ้าเขากล่าวว่าสิ่งใดเป็นไปไม่ได้ มีแนวโน้มสูงว่าเขาจะผิด
กฎข้อหนึ่งสามารถใช้ได้กับทุกวงการ ไม่จำเป็นว่าใช้กับวงการวิทยาศาสตร์เท่านั้น ถ้าเราเปลี่ยนคำว่า “นักวิทยาศาตร์อาวุโสที่มีชื่อเสียง” เป็น “ผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียง” เราจะพบว่ากฎข้อหนึ่งคือคำแนะนำแก่ผู้เชี่ยวชาญทุกคนนั่นเอง และช่วยเตือนใจเราเรื่องกับดักของผู้เชี่ยวชาญได้เป็นอย่างดี

ผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงหลายคน “หน้าแตก” เพราะพูดว่าบางสิ่งเป็นไปไม่ได้ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เคยกล่าวในทำนองว่า ระเบิดปรมาณูไม่สามารถเป็นไปได้ เฟร็ด สมิธ ผู้ก่อตั้งเฟดเดอรัล เอ็กซเพรสเคยเสนอแนวคิดแก่อาจารย์เรื่องไปรษณีย์ที่รวดเร็วแต่คิดค่าบริการเพิ่มเติมในขณะที่เรียนมหาวิทยาลัย แต่โดนอาจารย์ตอบกลับมาว่า “ถ้าอยากได้เกรดที่ดีกว่าซีแล้วละก็ ขอให้เสนอแนวคิดที่เป็นไปได้มากกว่านี้” ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยก็ยังคาดการณ์ผิดได้เช่นกัน

2. วิธีเดียวในการค้นหาขีดจำกัดของความเป็นไปได้ คือ การก้าวข้ามมันสักเล็กน้อยไปสู่ความเป็นไปไม่ได้
บางครั้ง “ความเป็นไปไม่ได้” คือสิ่งที่เราทึกทักเองในจิตใจมากกว่า ถ้ามองในมุมมองของการพัฒนาตนเอง กฎข้อนี้คือการออกนอกกรอบความเคยชินหรือ Comfort Zone นั่นเอง เราอาจคิดว่าไม่สามารถทำบางอย่างได้ เช่น การอดอาหารเย็น แต่สำหรับผู้ชายที่บวชพระและต้องงดอาหารเย็นโดยสิ้นเชิง เขาจะต้องทำให้ได้ หรือการเลิกพฤติกรรมบางอย่างที่ติดงอมแงม และจำเป็นต้องเลิกให้ได้เพื่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา หลายคนก็สามารถเลิกนิสัยที่ไม่ดีเหล่านั้นได้

หลายปีก่อน ผมรู้จักเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งเรียนปริญญาโทด้านคอมพิวเตอร์และเริ่มทำวิทยานิพนธ์เพียงเล็กน้อย เพราะยังมีเวลาเหลืออีกสองปี แต่เนื่องจากอาจารย์ที่ปรึกษาให้เกรดวิทยานิพนธ์ผ่านทั้งหมด ทำให้รุ่นพี่ผมต้องทำวิทยานิพนธ์ทั้งหมดให้เสร็จภายในหนึ่งภาคการศึกษา มิฉะนั้นจะถูกให้ออกตามระเบียบของมหาวิทยาลัย โดยปกติแล้ว นักศึกษาส่วนใหญ่จะคิดว่าการทำวิทยานิพนธ์ให้สำเร็จในหนึ่งภาคการศึกษาเป็น “เรื่องที่เป็นไปไม่ได้” แต่เนื่องจากสถานการณ์บังคับ ในเทอมนั้นรุ่นพี่ผมจึงต้องทุ่มเทเต็มที่เพื่อทำวิทยานิพนธ์ให้สำเร็จให้ได้ภายในหนึ่งภาคการศึกษา และสามารถสอบผ่านได้สำเร็จ กลายเป็นว่าเขาสามารถจบเป็นคนแรกๆ ของรุ่นโดยไม่ได้ตั้งใจ

ท่านผู้อ่านอาจเคยได้ยินเรื่องเล่าขานว่า นโปเลียน โบนาปาร์ต จักรพรรดินักรบแห่งฝรั่งเศสต้องการลบคำว่า “เป็นไปไม่ได้” ออกจากพจนานุกรม เพราะนโปเลียนคิดว่า “ในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้”

3. เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากพอจะไม่แตกต่างจากเวทย์มนต์
กฎข้อนี้มักกล่าวถึงในนิยายวิทยาศาสตร์และภาพยนตร์อยู่เสมอ เช่น เล็กซ์ ลูเธอร์ ซึ่งเป็นคู่ปรับของซุปเปอร์แมนได้กล่าวประโยคนี้ในภาพยนตร์เรื่อง “Superman Returns” ซึ่งอ้างถึงเทคโนโลยีของดาวคริปตันซึ่งเป็นดาวเกิดของซุปเปอร์แมน

ตัวละครสำคัญในภาพยนตร์ชุด “สตาร์ วอร์ส” คืออัศวินเจไดซึ่งมีความสามารถพิเศษในการใช้พลังจิตควบคุมวัตถุให้เคลื่อนที่ได้ หลายคนอยากมีพลังเช่นนั้นบ้าง แต่คงได้แต่ฝันและคิดว่าเป็นเพียงจินตนาการเท่านั้น แต่ปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถใช้คลื่นสมองควบคุมวัตถุกายภาพได้แล้ว เช่นบริษัทแห่งหนึ่งกำลังพัฒนาของเล่นที่ใช้ “คลื่นสมอง” ควบคุมลูกบอลให้เคลื่อนที่ได้ ชื่อ “Force Trainer” ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็นเทคโนโลยีหลายอย่างที่แปลกมหัศจรรย์มากขึ้น เช่น เราอาจได้ฟังเพลงที่ต้องการในเอ็มพี 3 โดยการคิดชื่อเพลงในใจเท่านั้น

อันที่จริงกฎทั้งสามข้อของคล้ากคือ คำแนะนำให้เราเปิดใจต่อความเป็นไปได้ทั้งหลาย ดังนั้นถ้าเราเปิดใจกว้าง ไม่ยึดติดกับกรอบความรู้ ประสบการณ์เดิม เราจะเห็นว่าทุกสิ่งเป็นไปได้เสมอ และเห็นโอกาสในทุกสิ่งทุกอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีในปัจจุบันกำลังพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้นสิ่งที่เคยเป็นความฝันในนิยายวิทยาศาสตร์จะเริ่มกลายเป็นความจริง สิ่งที่คนรุ่นก่อนได้แต่ฝัน จะกลายเป็นสิ่งที่คนรุ่นเราสามารถจับต้องได้

ผมขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยคำพูดที่โด่งดังของชุนเรียว ซูซูกิ (Shunryu Suzuki) ปรมาจารย์เซ็นชาวญี่ปุ่นว่า

“In beginner’s mind there are many possibilities
In expert’s mind there are only few.”

“ในจิตใจของผู้เริ่มต้นมีความเป็นไปได้มากมาย
ในจิตใจของผู้เชี่ยวชาญมีความเป็นไปได้เพียงเล็กน้อย”

ขอให้เรามีความรู้อย่างผู้เชี่ยวชาญ และมีจิตใจที่เปิดกว้างอย่างผู้เริ่มต้นกันเถิดครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น