17 มิถุนายน 2552

ทำไมสอบวิทยานิพนธ์ไม่ผ่าน ตอนที่ 1



บทความนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Go Training ฉบับเดือนมิถุนายน 2552 ครับ และตอนจบจะตีพิมพ์ในฉบับเดือนกรกฏาคม 2552 ครับ
ในการเรียนระดับปริญญาโทนั้น ผู้เรียนจะต้องเรียนเนื้อหารายวิชาและต้องทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดในการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท โดยทั่วไปแล้ว ผู้เรียนมักจะไม่มีปัญหาเรื่องการเรียนเนื้อหารายวิชา อาจได้เกรดเอหรือบีบ้างแล้วแต่ความยากง่ายของแต่ละวิชา บางคนอาจได้เกรดซีในบางวิชาที่ค่อนข้างยาก แต่ก็สามารถผ่านพ้นไปได้ แต่นักศึกษาจะพบอุปสรรคใหญ่หลวงในการทำวิทยานิพนธ์ ตั้งแต่การหาหัวข้อวิทยานิพนธ์ ซึ่งระเบียบกำหนดว่าจะต้องหาหัวข้อให้ได้ภายในสองปี จากนั้นก็ผ่านเข้าสู่กระบวนการสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ การทำวิทยานิพนธ์ และด่านสุดท้ายคือการสอบวิทยานิพนธ์

จากประสบการณ์ในการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ผมได้พบนักศึกษาหลายคนที่สอบวิทยานิพนธ์ไม่ผ่านหรือสอบวิทยานิพนธ์ตก ทำให้ไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายยิ่ง ดังนั้นผมจึงลองวิเคราะห์สาเหตุที่นักศึกษาสอบวิทยานิพนธ์ไม่ผ่าน และรวบรวมเหตุผลดังกล่าวในบทความนี้ เพราะผมเชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาโทหรือสนใจจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทครับ

เหตุผลที่สอบวิทยานิพนธ์ไม่ผ่าน ได้แก่

1. เริ่มทำวิทยานิพนธ์ตอนใกล้กำหนดเส้นตายส่ง

หลังจากที่สอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ผ่านแล้ว นักศึกษาหลายคนก็โล่งอกที่ผ่านด่านแรกไปได้ และละเลยไม่สนใจที่จะรีบทำวิทยานิพนธ์ เพราะคิดว่ายังเหลือเวลาอีกนาน ไม่ต้องรีบร้อนก็ได้ ถ้าเป็นนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรปกติ คือเรียนเต็มเวลาในเวลาราชการ ส่วนใหญ่นักศึกษาประเภทนี้ยังไม่ได้ทำงานเต็มเวลา จึงได้เปรียบตรงที่มีเวลาว่างในเวลากลางวัน ดังนั้นสามารถใช้เวลากลางวันในการทำวิทยานิพนธ์ และนัดพบอาจารย์ที่ปรึกษาได้สะดวก ส่วนนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรนอกเวลาราชการ เช่น เรียนตอนเย็นหรือวันเสาร์ อาทิตย์ ส่วนใหญ่มักมีงานประจำอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาหลังเลิกงานเพื่อทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งในบางครั้งงานประจำก็เต็มมืออยู่แล้ว ทำให้แทบไม่มีเวลาทำวิทยานิพนธ์ จึงเร่งทำตอนใกล้กำหนดส่ง เช่น ถ้ากำหนดสอบเส้นตายวิทยานิพนธ์คือวันที่ 30 เมษายน นักศึกษาหลายคนจะเริ่มทำวิทยานิพนธ์ประมาณต้นเดือนมกราคม จึงทำให้ทำวิทยานิพนธ์ไม่ทัน

ดังนั้นนักศึกษาควรรีบทำวิทยานิพนธ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ครับ ไม่ว่านักศึกษาจะเรียนหลักสูตรในเวลาราชการ หรือนอกเวลาราชการ ก็ไม่ควรชะล่าใจ ปล่อยทิ้งเอาไว้ เพราะยิ่งทิ้งไว้นานเท่าใด ความกระตือรือร้นในการทำวิทยานิพนธ์จะยิ่งน้อยลง จนถึงขั้นไม่อยากทำ โดยทั่วไปแล้ว วิทยานิพนธ์ใช้เวลาในการทำตั้งแต่ครึ่งปีถึงหนึ่งปี แล้วแต่ความยากง่ายของหัวข้อ ดังนั้นยิ่งทำเร็วเท่าใด ยิ่งดีเท่านั้นครับ

วิธีหนึ่งที่เป็นประโยชน์ คือ พยายามรวมกลุ่มกับเพื่อนที่ทำวิทยานิพนธ์ในรุ่นเดียวกัน และนัดพบปะกัน เช่น พบกันเดือนละหนึ่งครั้งเพื่อสอบถามความก้าวหน้าในการทำวิทยานิพนธ์ของกันและกัน หรือให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และที่สำคัญที่สุด คือหมั่นพบอาจารย์ที่ปรึกษาสม่ำเสมอครับ เพราะหน้าที่ของอาจารย์ที่ปรึกษาคือการให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาและให้แนวทางหรือชี้แนะทิศทางในการทำวิทยานิพนธ์ แต่หน้าที่ในการทำวิทยานิพนธ์เป็นของนักศึกษาครับ การเรียนในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกนั้น นักศึกษาจะต้องรับผิดชอบตัวเองและมีวินัยเป็นอย่างสูง ดังนั้นนักศึกษาต้องคอยหมั่นกระตุ้นตนเองเสมอครับ

ในกรณีที่นักศึกษามาเร่งทำวิทยานิพนธ์ตอนใกล้เส้นตาย และเป็นนักศึกษาภาคนอกเวลาราชการ ผมแนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้ ควรขอลาพักร้อนหรือลางานชั่วคราว เพื่อทุ่มเททำงานวิทยานิพนธ์ให้เต็มที่ เพราะเวลามีน้อยอยู่แล้ว ถ้าไม่ให้เวลาอย่างเต็มที่ โอกาสที่จะทำวิทยานิพนธ์เสร็จมีน้อยมากครับ

2. ขาดแรงจูงใจ

ถ้านักศึกษาคิดหัวข้อวิทยานิพนธ์ด้วยตัวเอง และสามารถสอบผ่านหัวข้อวิทยานิพนธ์แล้ว แสดงว่านักศึกษามีความสนใจหัวข้อนั้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเพราะเป็นเรื่องที่ตนเองคิดขึ้นเองและต้องการทำ แต่ในบางกรณี นักศึกษาอาจได้หัวข้อวิทยานิพนธ์จากอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งเป็นหัวข้อที่อาจารย์ที่ปรึกษาสนใจ แต่นักศึกษาอาจไม่สนใจมากนัก เช่น เมื่อใกล้กำหนดสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ นักศึกษาก็รีบ “หยิบ” หัวข้ออะไรก็ได้จากอาจารย์ เพราะจะต้องสอบหัวข้อแล้ว ทำให้นักศึกษาไม่มีความกระตือรือร้นหรือขาดแรงจูงใจไม่อยากทำ ในบางกรณี ระหว่างที่นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ ก็เกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากทำ และหยุดทำดื้อ ๆ คือเลิกเรียนหรือลาออก

ดังนั้นก่อนที่นักศึกษาจะเลือกทำหัวข้อวิทยานิพนธ์ใดก็ตาม ควรถามตนเองว่า มีความสนใจและต้องการทำหัวข้อนั้นจริงหรือไม่ นักศึกษาไม่ควรเลือกหัวข้อเพียงเพราะต้องการให้สอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ผ่านภายในเวลาที่กำหนดหรือไม่ทราบว่าจะทำเรื่องอะไรดี จึงเลือกเรื่องอะไรก็ได้ที่อาจารย์ที่ปรึกษากำหนดมาให้เพราะการทำวิทยานิพนธ์จะต้องใช้เวลาและความต่อเนื่องในการทำ บางครั้งอาจเกิดความเบื่อหน่ายในบางช่วง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา หรือนักศึกษาอาจเกิดปัญหาในชีวิต เช่น ทะเลาะกับแฟน มีปัญหาสุขภาพ มีปัญหากับครอบครัว เปลี่ยนงาน เป็นต้น ในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาเหล่านี้ นักศึกษาจะไม่มีสมาธิพอที่จะทำวิทยานิพนธ์ได้ จนกว่าจะผ่านพ้นช่วงนั้นแล้ว

ส่วนใหญ่แล้ว สาเหตุที่นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ไม่สำเร็จ ไม่ใช่เพราะขาดความรู้หรือทักษะด้านวิชาการ แต่มักเกิดจากการขาดความเพียรหรือกำลังใจที่แน่วแน่ในการทำวิทยานิพนธ์ให้สำเร็จลุล่วง ดังนั้นนักศึกษาควรกระตุ้นและปลุกเร้าตนเองอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งปัจจุบันมีหนังสือแนวจิตวิทยาจำนวนมากที่ให้คำแนะนำด้านนี้อยู่แล้วครับ ลองไปหาอ่านและฝึกฝนดูครับ

3. การนำเสนอไม่ชัดเจน

นักศึกษาหลายคนได้ทำวิทยานิพนธ์และเขียนรูปเล่มมาเป็นอย่างดี แต่ตกม้าตายตอนสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์ เนื่องจากนำเสนอไม่ชัดเจน ไม่สามารถทำให้กรรมการสอบวิทยานิพนธ์เข้าใจได้ สาเหตุที่นำเสนอไม่ชัดเจน เช่น

· ใช้เวลาในการนำเสนอน้อยเกินไปหรือนานเกินไป อันที่จริง ก่อนที่นักศึกษาจะสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์นั้น ควรฝึกซ้อมการนำเสนอก่อน เช่น นำเสนอให้เพื่อนหรืออาจารย์ที่ปรึกษาฟังก่อนหนึ่งรอบ เพื่อที่จะได้เสียงสะท้อนของการนำเสนอ และปรับปรุง แก้ไข ให้ดีขึ้นก่อนการสอบ ในกรณีที่นำเสนอสั้นเกินไป กรรมการสอบวิทยานิพนธ์ก็อาจสงสัยว่า เนื้องานวิทยานิพนธ์คืออะไร ถ้านำเสนอนานเกินไป ก็จะน่าเบื่อ ส่วนใหญ่แล้ว ผมมักพบการนำเสนอนานเกินไป จะไม่ค่อยพบการนำเสนอที่สั้นเกินไปครับ

· สไลด์ที่ใช้ในการนำเสนอไม่เหมาะสม เช่น มีข้อความเต็มไปหมด ทำให้สไลด์ไม่น่าสนใจ และชวนง่วงนอน นอกจากนี้ นักศึกษาบางคนพูดหรือท่องข้อความในสไลด์ ซึ่งเป็นการนำเสนอที่น่าเบื่อมาก เนื้อความในสไลด์ควรสรุปประเด็นสำคัญเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใส่ข้อความทั้งหมด และควรมีภาพประกอบหรือภาพเคลื่อนไหว เพื่อสื่อเนื้อความที่ต้องการ

· นักศึกษาอธิบายไม่รู้เรื่อง หัวข้อบางเรื่องอาจเป็นเรื่องที่กรรมการสอบบางท่านไม่ถนัด หรือเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ ซึ่งนักศึกษาอาจมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นเป็นอย่างดี ดังนั้นนักศึกษาควรยกตัวอย่างหรือการอุปมา อุปไมย เพื่ออธิบายเนื้อความให้ชัดเจน

· นักศึกษาไม่ได้เน้นงานของตนเอง ทำให้กรรมการสอบไม่เข้าใจว่าเนื้องานวิทยานิพนธ์ที่นักศึกษาทำคืออะไร เช่น ใช้เวลากล่าวถึงทฤษฏีหรืองานวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาก แต่ใช้เวลาในการกล่าวถึงเนื้องานวิทยานิพนธ์ตนเองสั้นเกินไป การสอบวิทยานิพนธ์ก็เหมือนการขายสินค้าครับ ดังนั้นนักศึกษาควรเน้นจุดเด่นของงานวิทยานิพนธ์และใช้เวลากับตรงนี้ให้มากที่สุด และควรเปรียบเทียบงานของตนเองกับงานวิจัยของผู้อื่นที่ใกล้เคียง เพื่อที่กรรมการสอบจะได้เข้าใจเนื้อหางานของนักศึกษาได้ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ

นักศึกษาควรหาโอกาสฟังการสอบวิทยานิพนธ์ของรุ่นพี่หรือเพื่อนร่วมรุ่น เพราะทำให้มีประสบการณ์และเห็นรูปแบบการนำเสนอทั้งที่ดีและไม่ดี เพื่อจะได้เตรียมการนำเสนอของตนเองได้อย่างเหมาะสมครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากคะสำหรับคำแนะนำดีๆ ดิฉันกำลังหาหัวข้อทำวิทยานิพนธ์อยู่ค่ะตอนนี้ คิดว่าอ่านแล้วเข้าใจและมีกำลังใจขึ้นมากคะ นิติ-มธบ.

    ตอบลบ
  2. ก็ถูกของอาจารย์ค่ะ ดิฉันมักเจอปัญหา นำเสนอไม่รู้เรื่องค่ะ ทำให้หนักใจอยู่เหมือนกัน นี้ก็ไกล้เวลาจะสอบจบแล้ว ยังไม่รู้จะอยางไรดีค่ะ

    ตอบลบ